ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ก้าวย่าง6 ปี'มูลนิธิสงเคราะห์คนพิการ'

วันที่ลงข่าว: 10/03/15

ก้าวย่าง6 ปี'มูลนิธิสงเคราะห์คนพิการ' สานงานสำคัญตามรอยพระราชดำริ : ปฏิญญา เอี่ยมตาล วัชระชัย คล้ายพงษ์ ภาพ ทีมข่าวรายงานพิเศษ

              “งานช่วยเหลือคนพิการมีความสำคัญยิ่ง เพราะผู้พิการไม่ได้เป็นผู้ที่อยากพิการ แต่อยากช่วยตัวเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรได้ เพื่อมีชีวิตมี

เศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัวหนักแก่สังคม ฉะนั้นนโยบายที่เราจะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยตัวเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม“

 

              พระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ วันที่ 22 มีนาคม 2527

 

              การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการให้พึ่งตนเองได้ตามศักยภาพที่พึงมีโดยไม่ตกเป็นภาระครอบครัว และสังคมในวันหน้า คือเป้าหมายสูงสุดของ "มูลนิธิอนุเคราะห์คน

พิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี"

 

              ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2497 มาถึงปี 2558 ถือเป็นก้าวย่างสู่ปีที่ 61 ที่ทางมูลนิธิมุ่งสานงาน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชปณิธานในการสนับสนุนช่วยเหลือ ให้ความรู้ การศึกษา

พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กพิการ

 

              ทุกวันนี้ยังมีผู้รอคอยการช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ สังคม และอาชีพอีกเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดงบประมาณในการฟื้นฟูบำบัดรักษา โดยเฉพาะเรื่อง

จัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเคลื่อนไหว เช่น แขน ขาเทียม เฝือกเหล็ก รถเข็น ฯลฯ เพื่อให้คนพิการมีสุขภาวะทางกาย และจิตวิญญาณที่ดี โดยแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 28 ล้านบาท ถือเป็น

ภาระหนักของมูลนิธิ ที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาเท่านั้น                                    

 

              “ขนิษฐา เทวินทรภักติ" ประธานมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ บอกว่า ถ้าเราไปตกใจกับความพิการทางร่างกายที่เกิดขึ้น จะทำให้เด็กพิการขาดการศึกษา คือหมดสิ้นไป

ทั้งชีวิต การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ด้วยการเยียวยารักษา กายภาพบำบัด เช่น ขาลีบ ต้องใช้ขาเทียม หรือวีลแชร์ เมื่อเยียวยาแล้วต้องจัดให้เด็กได้รับการศึกษาเพื่ออนาคต

ที่ดีมีอาชีพมีงานทำดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระในสังคม ไม่ใช่ว่าเรียนไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ เราต้องเตรียมอาชีพตามความถนัดของแต่ละประเภทความพิการ เพื่อให้คนพิการอยู่

อย่างมีคุณค่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ จากที่คลุกคลีกับคนพิการมายาวนาน ทำให้รู้ว่า ความพิการก็คือ ความไม่ถนัดนั่นเอง ลองนึกถึงคนปกติว่า อาจมีสายตาสั้นยาวไม่เท่ากัน ถ้า

ใส่แว่นก็หาย ซึ่งความพิการก็เช่นกัน

 

              “ในความเป็นสากล ถ้ามีโอลิมปิกก็ต้องมีพาราลิมปิกเกมส์ เด็กบางคนไม่มีแขน ไม่มีขาเลย หรือมีขาข้างเดียว ต้องฝึกให้ใช้ส่วนที่เหลืออยู่ ช่วยตัวเองมากที่สุด นี่คือเป้า

หมายของเรา ไม่ใช่แค่เลี้ยงดูให้ผ่านไปวันๆ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ต้องใช้ แพทย์  นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานพี่เลี้ยงดูแล

ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น“ ขนิษฐา กล่าว

 

              นอกจากการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย การเคลื่อนไหวและกิจกรรมบำบัดในส่วนต่างๆ ขนิษฐาบอกว่า มูลนิธิมีสิ่งที่โดดเด่นคือ ฝึกให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ด้วยการมีอาชีพที่เลี้ยงดูตัวเองได้ โดยดูจากความถนัดของแต่ละคน บางคนไม่มีแขน แต่เล่นกีฬาได้เก่ง โดยเฉพาะว่ายน้ำ บ็อกเชียร์ เทเบิลเทนนิส กวาดเหรียญรางวัลมามากมาย

ประเภทเยาวชนระดับประเทศและระดับชาติ ส่งเสริมผลักดันสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ทำเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้

 

              รวมถึงงานศิลปะสร้างสรรค์พัฒนาความคิด นำไปประกอบอาชีพได้ เช่น กระเป๋าผ้าบาติก ปลอกหมอน วาดภาพ งานปูนปลาสเตอร์ ผ้ามัดย้อม เทียนหอม การบูร

พิมเสนน้ำ เปเปอร์มาเช่ ดอกไม้ประดิษฐ์ รวมถึงการทำอาหาร ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นฝีมือของเด็กพิการที่บรรจงสรรค์สร้างความสวยงามตามจินตนาการ และที่ผ่านมา

ทางมูลนิธิจัดแสดงสินค้าในเทศกาลสำคัญในวันครบรอบปีมูลนิธิ เช่น งานปีใหม่ วาเลนไทน์  รวมถึงออกบูธในที่ต่างๆ เช่น สยามพารากอน ตลาดบองมาร์เช่ เมืองทองธานี ฯลฯ

ตามคำเชิญ โดยผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นขึ้นชื่อคือ ไข่เค็มสูตรพิเศษ เป็นไข่เค็มลูกใหญ่ ไข่แดงเค็มมัน ไข่ขาวไม่เค็ม จำหน่ายในราคาย่อมเยา

 

              ประธานมูลนิธิ บอกว่า การส่งเสริมอาชีพต่างๆ จะต้องดูจากความถนัดของเด็กแต่ละคนที่ฉายแววออกมา เช่นนักกีฬาว่ายน้ำ ทางมูลนิธิจะเริ่มจากการทำกายภาพบำบัด

ด้วยวิธี “ธาราบำบัด“ คนไหนมีแววสู่เส้นทาง “นักกีฬาอาชีพ” ก็จะผลักดันสนับสนุนจากกรมพลศึกษาส่งครูมาฝึกฝน และแทบไม่เชื่อว่า คนไม่มีแขนกลับว่ายน้ำเก่งกว่าคนปกติ

เสียอีก

 

              จากการสังเกตการณ์ของทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ครั้งนี้ พบเห็นสิ่งที่โดดเด่นบนสภาพความพิการของเด็กเหล่านี้ คือ รอยยิ้มที่สดใสที่เกิดจากการยอมรับในความพิการนั้น

เรื่องนี้ต้องขอชมเชยทางมูลนิธิที่ปลูกฝังให้ทุกคนรู้จักคุณค่าของตนเองไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในความพิการที่เกิดขึ้น เพราะหากได้รับการฟื้นฟูดูแลอย่างถูกต้องแล้วก็สามารถทำ

อะไรได้เหมือนคนปกติ 

 

              “บางคนคลอดออกมา ไม่มีแขนขา บางทีมีแขนแต่ไม่มีขา ต้องฟื้นฟูให้ช่วยเหลือตัวเอง เช่น ตักข้าวกินเอง ฝึกให้ความชำนาญ จะเห็นว่า ในความมืดมนนั้น จะค้นเจอ

สิ่งล้ำค่าที่ซ่อนเร้น เจียระไนเหลี่ยมมุมให้ส่องแสงแวววาว เด็กเหล่านี้เหมือนเพชรพลอยที่แตกหัก หากเจียระไนก็งดงามได้ เช่น คนพิการแต่สมองดี ทำคอมพิวเตอร์ได้ หลาย

บริษัทรับเข้าทำงานมีกฎหมายรองรับ"

 

              ปัจจุบันแม้คนพิการสามารถใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไปโดยปกติ แต่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยแบ่งเบาการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เช่น

คนนั่งวีลแชร์สามารถขึ้นรถเมล์ ขึ้นลิฟต์ไปทำงานชั้นบนได้ คนตาบอดอ่านหนังสือได้ถ้ามีอักษรเบรลล์ คนหูหนวกแต่ร่างกายดี ข้ามถนนได้ถ้ามีไฟบอกสัญญาณ ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่า

อุปกรณ์เหล่านี้จะเข้ามาเติมเต็มชีวิตให้แก่คนพิการ เพื่อให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี

 

5อาชีพยอดฮิตคนพิการในออฟฟิศ

เจ้าหน้าที่ธุรการ

พนักงานคอมพิวเตอร์

โอเปอเรเตอร์

เจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน     

พนักงานลูกค้าสัมพันธ์

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 10 มีนาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก