ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สภาคนผู้พิการฯชง6เรื่องต้องบรรจุในรธน.ใหม่

วันที่ลงข่าว: 10/03/15

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นำโดย นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งขาติ (สนช.) และนายวิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นเจตนารมน์สมัชชาคนพิการแห่งขาติที่ได้มีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่จ.เลย ต่อ นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เพื่อเสนอความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 16 การปฏิรูปด้านสังคม 

โดยจะต้องบรรจุ 6 เรื่อง ประกอบด้วย 1.รัฐต้องสร้างหลักประกันให้ทุกคนรวมถึงคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสวัสดิการและสภาพแวดล้อมอันเป็นสาธารณะ 2.ให้รัฐออกกฏหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานในสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสนอออกกฏหมายลูกต่อการเลือกปฏิบัติ 3.รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม และพลังพลเมืองอย่างยั่งยืน 

4.รัฐต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกและไทยก็เคยประสบมาแล้วในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 และเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 5.รัฐต้องดำเนินการปฏิรูปการศึกษาพิเศษ โดยปรับปรุงกฏหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการพร้อมกับเสนอให้ออกฏหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาศเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ และ 6.รัฐต้องป้องกันและแก้ปัญหาความด้อยโอกาสของบุคคลอันเนื่องมาจากปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฏหมายจนประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อให้มีที่ยืนในสังคม

ด้านนายวิริยะ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้ได้เคยเสนอไปยังกมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สปช.ไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเกรงว่าจะเกิดความล่าช้าต่อการเสนอไปยังกมธ.ยกร่างฯ จึงได้มายื่นข้อเสนอโดยตรง ซึ่งอยากฝากถึงเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่รัฐพยายามผลักดันให้ส่งเสริมการทำงานเป็นรายได้ของรัฐ ซึ่งยังไม่มีการถามความเห็นของเครือข่ายคนพิการและภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้มีการสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบสลากรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะช่วยให้สังคมพลเมืองมีความเข้มแข็งมากกว่าโดยที่รายได้จะตกแก่ประชาชนแทนการเข้าสู่รัฐ

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ วันที่ 10 มีนาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก