ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่ประชาคมอาเซียนและรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

วันที่ลงข่าว: 19/02/15

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ได้แจ้งที่ประชุมทราบว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การเติบโตและขยายตัวอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ พร้อมกล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก่อให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพสูง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร โลจิสติกส์ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการบริการ

การพัฒนาฝีมือแรงงานก็เพื่อให้แรงงานเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง มีทักษะ ฝีมือ และมีความชำนาญ สามารถทำงานที่มีความหลากหลายและมีความซับซ้อน อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตภาคแรงงานซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง อย่างไรก็ตาม การที่จะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น กพร.ปช. จะต้องกำหนดนโยบายและการพัฒนาแรงงานจากศูนย์กลางไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านแรงงานเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้การพัฒนากำลังแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์เป็นตัวนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

โดยกระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งกองอาเซียนเป็นศูนย์กลางด้านแรงงานในการบูรณาการภารกิจรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนใช้ในการบริหารจัดการตลาดแรงงานให้มีความสมดุล และในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีการพัฒนาขีดความสามารถด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาถิ่นของประเทศในอาเซียน ให้แก่แรงงานไทยและผู้ประกอบการ ซึ่งมีเป้าหมาย ๒๑,๔๘๐ คน

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลการศึกษาการเตรียมแรงงานไทยเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนตามข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (MRAs) ใน ๗ สาขาอาชีพและเพิ่มเติมสาขาการท่องเที่ยว ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี พบว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่มีทักษะด้านภาษา ไอทีและการคิดคำนวณต่ำกว่าที่นายจ้างต้องการ อย่างไรก็ตามนักวิชาการทีดีอาร์ไอได้เสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาทักษะแก่แรงงานทั้งด้านภาษา ไอทีและการคิดคำนวณ รวมทั้งปรับทัศนคติให้เด็กไทยได้หันมาสนใจเรียนด้านอาชีวศึกษามากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้สมาคมวิชาชีพต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่คณะอนุกรรมการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ได้นำเสนอแผนพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ต่อที่ประชุม โดยได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ๒๕๖๓ จะผลิตรถยนต์ให้ได้ ๓.๕ ล้านคัน ส่วนความต้องการแรงงานในช่วงตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ -๒๕๖๐ ราว ๑๒๔,๐๐๐ คน ซึ่งการพัฒนาจะเน้นให้มีทักษะฝีมือและมาตรฐานวิชาชีพสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแผนดังกล่าว โดยให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพัฒนาแรงงานตามแผนที่วางไว้

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก