ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ชีวิตมีความสุขมาก-วันนี้ของ-ธันย์-ณิชชารีย์

วันที่ลงข่าว: 19/02/15
 น้องธันย์-ณิชชารีย์
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ขณะที่ น้องธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อายุ 14 ปี กำลังยืนรอรถไฟฟ้าที่สถานีอังมอเกียก ระหว่างการไปเรียนซัมเมอร์คอร์สภาษาอังกฤษ เคมบริดจ์ ณ ประเทศสิงคโปร์ 
พลันเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น
เธอพลัดตกลงไปบนรางและถูกรถไฟฟ้าที่แล่นมาทับขาขาดทั้งสองข้าง ท่ามกลางเสียงกรีดร้องด้วยความตกใจของผู้เห็นเหตุการณ์ อุบัติเหตุที่เกิดกับนักเรียนไทยในต่างแดนครั้งนั้นตกเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก น้องธันย์ต้องกลายเป็นผู้พิการนั่งรถเข็น ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ทว่าในโชคร้ายยังมีโชคดี ด้วยบุคลิกร่าเริงสดใส มองโลกในแง่งาม ทำให้คนไทยทั้งประเทศที่ได้รับรู้ว่าหัวใจของผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้แข็งแกร่งเพียงใด 
บัดนี้ น้องธันย์ในวัย 18 ปี นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เจ้าของพ็อคเกตบุ๊กแนวให้กำลังใจชื่อ สุขที่คิดบวก ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า 
"ชีวิตหนูตอนนี้มีความสุขม๊ากก"
 
เล่าให้ฟังวันที่เกิดอุบัติเหตุอีกครั้งได้ไหม
ตอนนั้นรู้สึกเจ็บและชามาก แต่เราต้องเอาตัวเราเองให้รอดก่อน ถ้ามัวร้องไห้ฟูมฟายก็จะร้องขอความช่วยเหลือจากใครไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่พอทราบข่าวก็ร้องไห้ทั้งคู่ โดยเฉพาะคุณแม่นี่ช็อกไปเลย ธันย์ก็พยายามให้กำลังใจแม่ ทำให้แม่เห็นว่าตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ ชีวิตไม่ได้แย่ลงเลย ยังไปเที่ยวกับเพื่อนได้ ยังมีความสุขได้เหมือนคนอื่นๆ
 
ความรู้สึกตอนใส่ขาเทียมครั้งแรก
ขณะนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเสด็จเยือนสิงคโปร์แล้วเห็นข่าวเราจากหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ลงข่าวธันย์เกือบทุกฉบับ ท่านก็รับสั่งให้ราชเลขามาถามว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร ทำไมมาประสบอุบัติเหตุไกลถึงที่นี่ แล้วยังยิ้มแย้มได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในที่สุดทรงพระราชทานขาเทียมรุ่น C-Leg ให้ เป็นขาเทียมที่ทันสมัยที่สุดในตอนนั้น ความรู้สึกตอนใส่ครั้งแรกเหมือนได้ใส่รองเท้าส้นสูงมากๆ ต้องฝึกการทรงตัวใหม่ แรกๆก็ยากนะแต่ไปใช้ไปนานๆก็เริ่มปรับตัวได้ 
 
ถึงวันนี้สามารถไปไหนมาไหนเองได้หรือยัง
ก็ไปได้นะคะ อย่างไปเที่ยวสยามกับเพื่อนก็นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส นั่งรถแท็กซี่ไป ไม่ก็ให้คุณพ่อไปส่ง เพื่อนก็ดูแลเราระดับหนึ่งแต่ไม่ถึงกับทุกฝีก้าว ธันย์พยายามจะทำตัวให้ปกติ มันเป็นการฝึกตัวเองในการใช้ชีวิตคนเดียวด้วย เพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ธันย์อาจจะโชคดีกว่าคนอื่นๆด้วยที่เหมือนเป็นคนที่มีคนรู้จัก เขารู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเราและอาจจะเกรงใจ  หรืออย่างไปซื้อเสื้อผ้าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร คนเยอะ นั่งรถวีลแขร์ไม่ได้ ต้องใส่ขาเทียมเดิน ก็สนุกดี การไปเดินในสถานที่แบบนั้นเหมือนได้ทดลองชีวิตทุกรูปแบบจริงๆ ได้ขึ้นลงทางลาด ขึ้นลงบันได พื้นที่ในซอยก็เดินยาก ต้องรู้จักวิธีหลบเลี่ยง บางที่พื้นเป็นอิฐบล็อคเอียงๆซึ่งเดินยากมาก แต่ด้วยความที่เราอยากช็อปปิ้ง ทำให้เรามีความพยายาม (หัวเราะ)
 
ได้เรียนรู้อะไรจากการออกไปเดินบนท้องถนน
สังคมยังมองว่าคนพิการต้องให้ผู้อื่นมาดูแลตลอดเวลา ธันย์ว่าทัศนคติแบบนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อยากเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่าคนพิการก็สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ยกตัวอย่างที่โรงเรียน เพื่อนๆช่วยเหลือธันย์ดีมาก เข็นรถให้ ช่วยเหลือทุกอย่าง แต่บางทีมันทำให้เรารู้สึกแย่ เช่นตอนจะลุกจากรถเข็นมาใส่ขาเทียม ปกติธันย์จะช่วยตัวเองได้โดยค่อยๆก้มและลุกขึ้น แต่นี่เพื่อนก้มลงไปทำให้เลย ในใจคิดว่าเราก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ยังทำอะไรได้อีกเยอะแยะ เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมเปิดใจว่าควรปล่อยให้คนพิการช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เพื่อให้เขาได้พัฒนาตัวเอง
 
คิดอย่างไรต่อสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในบ้านเรา
เมื่อก่อนธันย์คิดแค่ว่าคนนั่งรถเข็นคือคนพิการ แต่ลืมไปว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยและผู้สูงอายุที่เดินเหินไม่สะดวกก็ใช้ชีวิตลำบากไม่ต่างกัน กระทั่งได้มาเจอกับตัวเอง ตั้งแต่ฟุตบาท คนพิการไม่สามารถนั่งรถเข็นได้เลย เพราะพื้นขรุขระไม่เสมอกัน เข็นไปโอกาสล้มหน้าคว่ำมีสูง ใส่ขาเทียมเดินปลอดภัยกว่า ตามสถานศึกษา สถานที่ราชการส่วนใหญ่ก็ไม่มีเนินลาดขึ้นลง ห้างสรรพสินค้ มีห้องน้ำสำหรับคนพิการจริงแต่ส่วนใหญ่ล็อกกุญแจ เข้าไปใช้งานไม่ได้ แม้แต่ที่จอดรถของคนพิการยังมีคนปกติมาแย่งจอด ทั้งหมดนี้เลยทำให้เห็นถึงความลำบากในการใช้ชีวิตของคนพิการ 
ธันย์อยากเป็นกระบอกเสียงพูดให้สังคมรู้ว่า คนพิการก็อยากจะช่วยเหลือตัวเอง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้เขาไม่สามารถช่วยตัวเองได้เต็มที่ อยากทราบว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทำให้ดีเทียบเท่าบางประเทศที่เขาให้ความสำคัญกับผู้พิการ ทั้งที่ประเทศไทยรณรงค์มาตลอดว่าอยากให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตสู่สังคมรอบนอก แต่ดูสิ นี่มันไม่มีอะไรเลย
 
เดี๋ยวนี้ยังมีคนเข้ามาให้กำลังใจเยอะไหม
มี 2 แบบค่ะ แบบแรกคือสงสาร แบบที่สอง ชื่นชม มองว่าชีวิตเราเป็นส่วนหนึ่งที่ให้กำลังใจเขา ด้วยความที่เราคิดบวก ร่าเริง มีพี่คนหนึ่งเขาประสบอุบัติเหตุต้องตัดขาทิ้งทั้งสองข้าง เกิดท้อแท้สิ้นหวัง แฟนเขามาบอกว่าช่วยหน่อย แฟนพี่เป็นแบบน้องเลย แต่ยังทำใจไม่ได้กับสภาวะแบบนี้ ช่วยไปให้กำลังใจเขาหน่อย โชคดีที่ไปทำกายภาพบำบัดที่เดียวกันเลยมีโอกาสได้เจอกัน ธันย์ก็ให้กำลังใจเขา กำลังใจดีๆก็เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้เขาใช้ชีวิตต่อไปได้ 
 
ได้ข่าวว่าเคยเขียนพ็อกเกตบุ๊กแนวให้กำลังใจด้วย
หนังสือชื่อ สุขที่คิดบวก ธันย์จะถือวลีประโยคหนึ่งคือ หากคุณยังไม่ได้ลองทำ อย่าบอกว่าคุณทำมันไม่ได้ เป็นวลีที่ธันย์ยึดปฏิบัติมานานแล้ว คอยสอนให้รู้จักพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก การที่เรานั่งวีลแชร์แล้วมีคนมาบอกเราทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้หรอก อันที่จริงเราต้องลองทำมันก่อน ทำไม่ได้จริงๆค่อยเลิก อย่างตอนใช้ขาเทียมคล่องใหม่ๆ ธันย์ไปเที่ยวสวนสนุก ได้เล่นเครื่องเล่นหวาดเสียวทุกอย่างเลย เป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ อีกสิ่งหนึ่งที่บอกตัวเองเสมอคือจะไม่ทำให้คนอื่นทุกข์เป็นอันขาด อยากให้คนรอบข้างมีความสุข ยิ้มแย้มไปกับเรา 
 
พูดถึงประสบการณ์พูดให้แรงบันดาลใจคนอื่นหน่อย
ธันย์ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรด้านการมองโลกในแง่บวกค่ะ ตอนแรกที่มีผู้ใหญ่มาชวนยังปรึกษาคุณพ่ออยู่เลยว่าไปพูดแล้วใครเขาจะยอมรับ เพราะยังเด็ก ยังเรียนไม่จบ ไม่มีประกาศนียบัตรอะไรมาการันตี แต่พอได้ลองไปพูดจึงเข้าใจทีหลังว่าสิ่งที่ธันย์ไปพูดเป็นประสบการณ์ที่เราไปเจอมาแล้วถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง ซึ่งชีวิตเขาไม่เคยเจอมาก่อน ในอนาคตสิ่งที่อยากทำมากที่สุดคือ ทอล์กโชว์ รู้สึกว่ามันท้าทาย อาจจะยังไม่ใช่ในเวลาอันใกล้นี้ ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกเยอะค่ะ
 
วางแผนอนาคตตัวเองไว้อย่างไร
ก่อนประสบอุบัติเหตุ อยากเป็นหมอ รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคน แต่ไม่รู้ว่าต้องเป็นหมอด้านไหน จนมาประสบอุบัติเหตุ รู้สึกว่าจิตยแพทย์นี่แหละเหมาะกับตัวเราที่สุด เพราะมีประสบการณ์ชีวิตในแบบที่คนอื่นไม่มี บวกกับการที่ให้คำปรึกษากับกับคนที่ทุกข์มากๆแล้วทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจ
เหตุการณ์ร้ายๆที่เกิดขึ้นทำให้ธันย์รู้จักตัวเอง บางครั้งก็เคยคิดนะว่าหรือสวรรค์จะให้เราเป็นอย่างนี้ อยากให้เราทำสิ่งนี้ ถ้าธันย์ยังเป็นเด็กปกติธรรมดาทั่วไปตอนนี้ก็อาจจะไปเรียนแพทย์ หรือทำอะไรอื่น แต่หลังเกิดอุบัติเหตุ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเลย ชีวิตธันย์ตอนนี้มีความสุขมากค่ะ
 
 
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก