ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ประชาคมอาเซียน ตอน อนาคตอินทผาลัมใน AEC

วันที่ลงข่าว: 11/02/15

อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์หลายอย่างมาก และปัจจุบันบริษัทเอกชนในเชียงใหม่ กำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ของตนเองทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลิตผลป้อนตลาดที่มีความต้องการสูง และรองรับการเปิด AEC ด้วย ติดตามจากรายงาน

คุณลุงณัฐธันวนันต์ เจ้าของสวนอินทผาลัม ในพื้นที่บ้านวังธาร ตำบลดอยหล่อ อำเภอหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคภูมิใจ และดีใจเป็นอย่างมาก ที่เห็นต้นอินทผาลัม ที่เขากับภรรยาคู่ชีวิต ลงทุนลงแรงปลูกแทรกไว้ในสวนมะม่วงกว่าพันต้น ส่วนหนึ่งกำลังออกช่อดอก ทั้งที่ปลูกได้เพียง 2ปี ซึ่งต่างจากปกติทั่วไปที่อินทผาลัมจะออกช่อดอกก็ต่อเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 3- 4ปี

ที่เป็นเช่นนี้ คุณลุงณัฐธันวนันต์ คาดว่าเป็นเพราะพื้นที่ของเขามีสภาพดินและอากาศที่เหมาะสม ประกอบกับได้ดูแลเอาใจใส่ทั้งให้น้ำ ให้ปุ๋ยอินทรีย์ และฮอร์โมนบำรุงทางใบอย่างเพียงพอ รวมทั้งการป้องกันโรคเชื้อรา ทำให้อินทผาลัมส่วนหนึ่งมีสภาพที่เหมาะสมในการออกช่อดอก

อินทผาลัมเป็นผลไม้มหัศจรรย์ มีถิ่นดั้งเดิมมาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง ปัจจุบันเป็นที่นิยมทานกันโดยทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่ชาวมุสลิม ที่มักจะทานเป็นอาหารหลังละศีลอด เพื่อชดเชยสารอาหารที่ขาดหายไป และฟื้นฟูร่างกาย

ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้น ระบุว่าอินทผาลัม เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วย เส้นใย ไฟเบอร์ ช่วยลดอาการท้องผูก อ่อนเพลีย มีวิตามิน และเกลือแร่ที่มีคุณสมบัติบำรุงกล้ามเนื้อ กระดูก และสายตา และแม้ว่าจะมีความหวานสูงมาก แต่ก็ไม่มีคอเลสเตอรอล และไขมันต่ำ และยังมีประโยชน์ด้านการป้องกันโรคมะเร็งในช่องท้อง และแก้โรควิงเวียนศีรษะด้วย

ดร.พรภัทรวดี วงศ์ปันทะนัน บริษัทเดลี่กรีน(2507)จำกัด

จากความต้องการของตลาดที่มีสูงมาก ขณะที่ในประเทศไทยผลิตได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ที่เหลือต้องนำเข้า บริษัทเดลี่กรีน(2507)จำกัด จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเอง เป็นเครือข่าย หรือเป็นลูกไร่ของบริษัท โดยเลือกอินทผาลัมสายพันธุ์เดคเล็คนัวร์ เพราะถือว่าเป็นราชินีแห่งอินทผาลัม พร้อมให้คำปรึกษาด้านวิชาการ แก่เกษตรกรรวมจนถึงปัจจุบันในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกแล้วกว่าหมื่นไร่

ซึ่งหากคำนวณเป็นผลผลิตแล้ว ระหว่างปี 2558 – 2560 จะได้อินทผาลัมปีละประมาณ 1หมื่นตัน และยังสามารถแปรรูปให้เป็นอาหารประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกมากมาย เพื่อให้สามารถสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งในประเทศสาธารณประชาชนจีน ซึ่งมีความต้องการมาก เช่นกัน แม้ว่าราคาผลแห้งจะสูงถึงกิโลกรัมละ 500 – 600บาทก็ตาม 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก