ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แนวทางการปฏิรูปการศึกษา

วันที่ลงข่าว: 11/02/15

จากสถิติข้อมูลการจัดอันดับการศึกษาของไทยในเวทีโลก ปี 2556 โดย WEF : World Economic Forum พบว่า อัตราการเข้าเรียนของเด็กไทยอยู่ในอันดับ 101 ของโลก และเป็นอันดับ 9 ของอาเซียน ในส่วนของคุณภาพ ระบบการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับ 78 ของโลก และอันดับ 8 ของอาเซียน รวมทั้งคุณภาพประถมศึกษาอยู่ในอันดับ 86 ของโลก อันดับ 7 ของอาเซียน และล่าสุด WEF ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในปี 2556 – 2557 พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศดังกล่าว หากมองในภาพรวม ถือว่าประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะในช่วงระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีอันดับรวมสูงขึ้นมา 23 อันดับ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สูงขึ้นมา 19 อันดับ ถ้าการศึกษาไทยยังไม่ปฏิรูปการศึกษา อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจตามหลังประเทศอื่นในอาเซียน ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีฉันทามติเบื้องต้น กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 5 เรื่อง ได้แก่ การผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และเชื่อมโยงการพัฒนาทุกด้านสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศระยะยาว ขจัดความเหลื่อมล้ำ และประกันโอกาสเข้าถึงการศึกษาของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาครู พัฒนาสถานศึกษา ซึ่งในอนาคตจะไม่เน้นการพัฒนาเขตพื้นที่ แต่จะเน้นพัฒนาครูและโรงเรียน รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะของคนไทยและของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ลดขนาดการจัดการภาครัฐ และกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา โดยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัด และเรื่องสุดท้าย คือ ปรับกลไกทางกฎหมายให้รองรับการปฏิรูป เช่น การปรับโครงสร้าง รวมถึงวางกลไกที่ลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

สำหรับการดำเนินการปฏิรูปการศึกษานั้น กระทรวงศึกษาธิการ ต้องรับเอาแนวคิดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากำหนดร่วมในแผนการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น และจัดให้การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น เนื่องจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมีความสำคัญที่สุดในระบบการศึกษา ซึ่งทุกหน่วยในสังกัดต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน เพื่อยกระดับและกำหนดทิศทางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยไปสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก