ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มรภ.บ้านสมเด็จฯเปิด ‘สำนักวิเทศสัมพันธ์อาเซียน’

วันที่ลงข่าว: 11/02/15

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมด้านการศึกษาและวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน ว่า มหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายกับประเทศเพื่อน จึงบรรจุวิชาภาษาและวัฒนธรรมเพื่อนบ้านเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้นิสิตชั้นปีที่ ๑ และก่อตั้งหน่วยงานใหม่ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะให้รับผิดชอบนโยบายดังกล่าวโดยตรง คือ สำนักวิเทศสัมพันธ์และเครือข่ายอาเซียน ในปัจจุบัน

โครงการดังกล่าว นอกจากการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้ว มหาวิทยาลัย ยังได้ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเปิดโอกาสให้นิสิตที่สนใจร่วมโครงการ ได้เดินทางไปเรียนยังมหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้านเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม ในแต่ละปี จะมีนิสิตเข้าร่วมโครงการดังกล่าวถึง ๕๐๐ คน และจากการดำเนินโครงการมานานร่วม ๑๐ ปี ทำให้ทั้งคณาจารย์และนิสิตได้เรียนรู้ทั้งขั้นตอนการเดินทางไปต่างประเทศ นิสิตบางคนมองเห็นช่องทางในการทำงานต่างประเทศในอนาคต ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ และฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ ที่สำคัญคือ ประสบการณ์ตรงจากการเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเองทำให้เข้าใจประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนความคิดและทัศนคติที่มีต่อประเทศเหล่านั้น ถือเป็นความรู้ที่อยู่นอกเหนือตำรา นอกห้องเรียน และยังเห็นถึงความเชื่อมั่นในตัวเอง และการพัฒนาบุคลิกภาพของนิสิตที่ดีขึ้นหลังจากจบโครงการ

ดร.สุทิพย์พร โชติรัตนศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์และเครือข่ายอาเซียน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักวิเทศสัมพันธ์และเครือข่ายอาเซียน เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ มุ่งส่งเสริมความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรม ประสานความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานและสถานศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศ มีภารกิจที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนให้นิสิตนักศึกษา รวมถึงบุคคลภายนอก เกิดความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศอาเซียน ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสาร รวมถึงวัฒนธรรมประเทศต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจกันในประชาคม

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนัก ฯ เป็นเจ้าภาพในการจัด “โครงการค่ายเยาวชนอาเซียนผสานความร่วมมือด้านภาษาและวัฒนธรรมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ” โดยมีอาจารย์และนิสิตจากประเทศในกลุ่มอาเซียน+๑ รวม ๘ ประเทศมาเข้าร่วม ผลการประเมินเห็นถึงพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นของเด็กๆ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ เด็กมีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เรียนรู้จักปรับตัวและสามารถเอาตัวรอดจากการใช้ชีวิตในต่างแดนได้ รวมถึงการวางแผนอนาคต ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของโครงการที่ชัดเจน

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก