ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

วิทยากรจากอาเซียนร่วมประชุมด้านการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันที่ลงข่าว: 11/02/15

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) เป็นการสอนโดยกระตุ้นให้เด็กศึกษาหาความรุ้ด้วยตนเอง โดยใช้ปัญหาเป็นเครื่องกระตุ้น เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เข้ามามีบทบาทในอาเซียนมากขึ้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้เชิญวิทยากรจากอาเซียนจึงได้เข้ามาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศไทย

คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมร่วมภาคพื้นเอเซียแปซิฟิกด้านการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (APJC-PBL) ครั้งที่ ๓ โดยมีวิทยากรจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาเด็กในประเทศตนเองด้วยแนวทางดังกล่าว

เนมูเอล ฟาจุตากานะ ศาสตราจารย์ประจำศูนย์ฝึกอบรมครูแห่งชาติฟิลิปปินส์ กรุงมะนิลา บอกว่า จากการสำรวจพบว่า การเปลี่ยนมาใช้วิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เข้ามามีส่วนช่วยหลายเรื่อง เช่น ช่วยให้เด็กได้ฝึกสมรรถนะอย่างเต็มที่ รู้จักการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง ช่วยตอบสนองยุคที่ต้องการกลยุทธ์การเรียนรู้เชิงนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาครูเฉพาะทางขาดแคลน ในสถาบันที่นำมาใช้ ระบุว่าหลังจากนำมาใช้แล้ว มีการนำความรู้ด้านศาสตร์ทั่วไปมาบูรณาการกับศาสตร์ทางการแพทย์ นักศึกษาเรียนรู้การเรียนด้วยตนเองและทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กสูงขึ้น

เบอร์ฮันนุดิน โมห์ ซัลเลฮ์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยตุน ฮุสเซน โอน มาเลเซีย บอกว่า มาเลเซียแบ่งระยะการใช้วิธีดังกล่าวเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะแรก เป็นระยะแนะนำ นำร่องการใช้ระบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ในคณะกลุ่มแพทย์ก่อน ระยะที่ ๒ นำไปใช้ในคณะอื่น ๆ นอกเหนือจากคณะกลุ่มแพทย์ และระยะที่ ๓ สร้างความริเริ่มระดับชาติและหาทางพัฒนาต่อไป

อานุภาพ เลขะกุล รองประธานคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ และอาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในไทยมีคณะด้านการแพทย์นำวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานแล้ว ๒๒ แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ๒๐ แห่ง เอกชน ๒ แห่ง มีนักศึกษาประมาณ ๑,๕๐๐ คนต่อปี

“การเรียนรูปแบบดังกล่าว ช่วยให้นักศึกษาแพทย์ได้เผชิญปัญหาด้านการแพทย์ในโลกแห่งความจริง ได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นและทักษะการสื่อสารด้วย” นายอานุภาพกล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อคุณภาพการเรียนแบบดังกล่าวทั้งหมด ๘ ด้าน ได้แก่ พฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน บทบาทครูผู้สอน คุณภาพของสถานการณ์หรือปัญหา การบริหารจัดการและความเป็นผู้นำ เนื้อหาและบริบทที่เกี่ยวข้อง ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษา การประเมินการเรียนของผู้เรียน และจำนวนผู้เรียน

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก