ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 9 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2558

วันที่ลงข่าว: 11/02/15

วันนี้ (9 ก.พ. 58) เวลา 10.35 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมราษฎร์บำรุง บ้านห้วยลาด หมู่ที่ 8 ตำบลนาดี อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทรงติดตาม การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โอกาสนี้ ทรงเปิดอาคารห้องสมุดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมราษฎร์บำรุง ซึ่งธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาการศึกษาให้แก่นักเรียนและมีอาคารห้องสมุดที่เหมาะสม โดยเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวพร้อมห้องน้ำ โรงเรียนแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 เปิดสอนในระดับปฐมวัยถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมจำนวน 35 คน ซึ่งที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีนักเรียนหญิงพิการข้อมือขวาด้วนแต่กำเนิด 1 คน แต่สามารถเรียนร่วมกับเพื่อนนักเรียนได้เป็นอย่างดี มีครูตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ครู ตชด. 5 นาย โดยครู ตชด. 2 นาย เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนฯ มีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ 4 คน กำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีและมัธยมศึกษาตอนต้น ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 (o-net) ปีการศึกษา 2556 คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับจังหวัด ยกเว้นภาษาอังกฤษ แต่ต่ำกว่าระดับประเทศทุกวิชา โรงเรียนฯ ได้มีการพัฒนาให้นักเรียนได้เข้าค่ายร่วมกับโครงการอื่นเพื่อพัฒนาความรู้ และส่งครูไปฝึกอบรมเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังได้นำวิถีชุมชนมาบูรณาการในการเรียนวิชากลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 การให้ความรู้เกี่ยวกับหอยแก่งซึ่งพบมากในพื้นที่ และสามารถนำมาประกอบอาหารได้ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำให้ปรุงสุกก่อนบริโภค ด้านโครงการตามพระราชดำริ โรงเรียนฯได้ดำเนินงาน ครบทั้ง 8 โครงการ อาทิ โครงการฝึกอาชีพ ได้ฝึกให้นักเรียนทำของที่ระลึก กระปุกออมสินผีตาโขน โดยวิทยาลัยการอาชีพด่านซ้ายไปช่วยฝึกอบรม เพื่อให้นักเรียนรู้จักวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ด้านศิลปะและรู้จักการออมโดยนำไปจำหน่ายที่ร้านขายของที่ระลึกในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย เป็นรายได้ระหว่างเรียนอีกทางหนึ่ง โรงเรียนฯ ยังได้ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการแปรรูปและถนอมอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น กล้วยฉาบ และ ขนมกล้วย ด้านโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีการเลี้ยงไก่ไข่ เป็ดไข่ เลี้ยงปลา กบ การเพาะเห็ด และปลูกพืชผักสวนครัว ผลผลิตที่ได้เพียงพอต่อการประกอบอาหารกลางวัน ส่งผลให้นักเรียนได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ตามหลักโภชนาการและมีสุขภาพที่ดีเติบโตตามวัย ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่ชุมชน ด้วย

เวลา 12.45 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ อำเภอด่านซ้าย เพื่อทรงติดตามผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริฯ ที่พระราชทานแก่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ ที่ดินสาธารณะประโยชน์ป่าโคกดงน้อย ตำบลบ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย ให้เป็นแหล่งผลิตพันธุ์สัตว์พระราชทาน และเป็นแหล่งโปรตีน เพื่อพระราชทานแก่ราษฎรและโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาวิจัยด้านการปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทาน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมทหารราบที่21 รักษาพระองค์ สำรวจพื้นที่รอยต่อจังหวัดเลย จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ ริเริ่มขึ้นในปี 2510 ถึง 2518 จัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งกองพันทหารช่างที่ 3 กองพลทหารราบที่ 3 กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่สำหรับใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ก่อสร้างอาคารประกอบเพื่อใช้ประโยชน์ในโครงการ

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้พิจารณาก่อสร้างฝายหินก่อในห้วยน้ำอุ่นและห้วยศอก รวม 5 แห่ง เพื่อส่งน้ำสนับสนุนให้แก่ราษฎรบริเวณบ้านเดิ่น และใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการฯ ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานส่งเสริมและขยายผลการพัฒนาทั้งด้านการปศุสัตว์ และการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน ควบคู่ไปกับงานฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และผู้ปกครองนักเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดเลย 7 แห่ง และโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวม 134 แห่ง ตลอดจนส่งเสริมและขยายผลไปสู่เกษตรกร ทั้งนี้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จะได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริฯ ดำเนินการสนองพระราชดำริ ผลิตพันธุ์ไก่ไข่และเป็ดไข่พระราชทาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ราษฎรและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รวมถึงโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โดยในปี 2558 มีเป้าหมายการผลิตไก่ไข่ จำนวน 4,000ตัว และเป็ดไข่จำนวน 2,000ตัว ทดลองเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์เล็กฮอร์น ให้มีสภาพเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งเป็นไก่ที่มีลักษณะตัวเล็ก แต่ให้ไข่ดกและขนาดฟองใหญ่ ปัจจุบันนำไปผลิตเป็นไก่ไข่พระราชทาน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพันธุ์โคชาร์โรเล่ส์พันธุ์แท้ และสนับสนุนน้ำเชื้อโคชาร์โรเล่ส์ให้แก่เกษตรกร โคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ เป็นโคที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา นำมาเลี้ยงไว้ที่ศูนย์พัฒนาปศุสัตว์ตามพระราชดำริ เพื่อทดสอบความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยใช้ระบบการจัดการพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ปลูกน้อย แต่ให้ผลผลิตสูง เหมาะสมกับจำนวนโคที่เลี้ยง เนื่องจากสภาพภูมิสังคมในปัจจุบันมีพื้นที่สำหรับการเลี้ยงโคลดลง โดยโครงการฯ จะพัฒนาเป็นจุดเรียนรู้ และฝึกอบรมการเลี้ยงโคตามแนวทางดังกล่าวให้แก่เกษตรกรต่อไป โอกาสนี้ ทรงฟังการบรรยายสรุป และทอดพระเนตรกิจกรรมด้านการศึกษาวิจัยด้านการผลิตพันธุ์สัตว์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ก่อนจะนำไปส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่ราษฎร ประกอบด้วย การเลี้ยงเป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ ซึ่งเป็นเป็ดที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถเลี้ยงได้ทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถใช้วัตถุดิบและวัสดุเหลือใช้ทางการเกตรในท้องถิ่นมาเป็นอาหารได้ การเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์โรดไอแลนด์เรด เป็นไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ สามารถใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ เกษตรกรและโรงเรียนที่นำไปเลี้ยงสามารถขยายพันธุ์ได้เอง ซึ่งเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรและโรงเรียนนำไปเลี้ยงสามารถขยายพันธุ์ไก่ไข่ได้เอง และการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย เป็นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ตามพระราชดำริ แบบ Happy Chicken เพื่อลดความเครียด ง่ายต่อการเลี้ยง และการดูแล มีสารอาหาร กรดไขมันโอเมก้า วิตามิน A และ E สูงกว่าการ เลี้ยงแบบขัง

เวลา 15.42 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหมันขาว ตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24 จังหวัดอุดรธานี เปิดสอนในปีการศึกษา 2557 ในระดับชั้นปฐมวัยถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 63 คน ครู ตชด. 6 นาย ทางโรงเรียนฯ ได้ส่งเสริมให้นักเรียนทำโครงงานการปลูกซาโยเต้ (มะระหวาน,ฟักแม้ว) ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ และให้ผลผลิตดี แมลงไม่ชอบ โดยรับประทานได้ทั้งยอดใบและผล เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ด้านการเกษตร เป็นการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ให้รู้จักและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ผลผลิตที่ได้นำมาประกอบอาหารกลางวันและยังเป็นรายได้เสริมระหว่างเรียน และมีความรู้เพื่อสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต ทั้งยังได้ส่งเสริมและขยายไปสู่ชุมชนด้วย โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ได้ให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผัก ถั่วเมล็ดแห้ง และเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำผลผลิตไปใช้ในการประกอบเป็นอาหารกลางวัน นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์แก่นักเรียนทั้งกิจกรรมร้านค้า กิจกรรมออมทรัพย์ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสหกรณ์ รู้จักการทำบัญชี การจดบันทึกรายงานการประชุม

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตวัฒนธรรมท้องถิ่นของราษฎรที่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าล๊วะและเผ่าถิ่น เช่น การแต่งกายชุดประจำเผ่า การเล่นตีเกิ้ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำเผ่าลั๊วะ เครื่องจักสาน เช่น ไซ และก๋วย ปราชญ์ชาวบ้านเกี่ยวกับสมุนไพรต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ม้ากระทืบโลง ขมิ้นดำ หญ้าตึกแมว พญาเสือโคร่ง และเด๊อะฉะ ที่มีสรรพคุณในการขับปัสสาวะเลือด โดยจะได้ต่อยอดความรู้ให้กับนักเรียนและชุมชนต่อไป ในการนี้ มีพระราชกระแสให้กรมชลประทานและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านแหล่งน้ำ ซึ่งกรมชลประทานมีแนวทางในการก่อสร้างฝ่ายในลำห้วยน้ำหมันขาวพร้อมระบบส่งน้ำและถังเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของโรงเรียนและหมู่บ้าน โดยจะดำเนินการในปี 2558 แล้วเสร็จในปี 2559 จากนั้น ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปบริการด้านทันตกรรมและตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย มีผู้ไปรับบริการจำนวน 174 คน โดยส่วนใหญ่เจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่มัน ข้าวโพด ข้าวไร่ และปลูกผักชี ราษฎรยังได้อนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้และถ่ายทอดแก่ชนรุ่นหลังเพื่อสืบสานให้คงอยู่ต่อไป

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก