ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ตามไปดูต้นแบบความสำเร็จ การปฏิรูปการศึกษา 5 ประเทศ โดย เพชร เหมือนพันธุ์

วันที่ลงข่าว: 06/02/15

 

หลังจากที่วงการศึกษาไทยหลงทางมาไกล ทำให้เราสูญเสียโอกาสไปเกือบ 2 ทศวรรษ The Lost Two Decades of Thai Education นับจากมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงการศึกษาไทยหลงทางมาตั้งแต่คราวปฏิรูปหลักสูตรปี 2521 แล้ว การศึกษาไทยเคยครองความยิ่งใหญ่มาตั้งแต่สมัย ร.5 แต่ได้ตกต่ำลงไปแบบไม่น่าเชื่อ พอรู้ตัวอีกครั้งถึงกับ "เงิบ" ชาติเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยตามหลังเรา อยู่ดีๆ ได้แซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว ตามที่เวิลด์อีโคโนมิก: WEF ปี 2014-2015 ได้รายงาน 

 

อย่าเพิ่งท้อใจครับ ไทยเรายังพอมีโอกาส ศักยภาพด้านอื่นๆ ยังสูงกว่าคู่แข่งหลายชาติ เราพลาดด้านการศึกษาเพียงด้านเดียว วิธีแก้ไขให้รวดเร็วและว่องไวที่สุดคือ เรียนรู้จากผู้ประสบความสำเร็จ "ลอกแบบและพัฒนา copy and develop" เอาส่วนที่ดีของเขามาปรับใช้ สปช. 18 ท่านด้านปฏิรูปการศึกษา ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นในทุกท่าน โดยเฉพาะ ท่าน พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานคณะทำงาน ที่ท่านดูแลโรงเรียนดรุณสิขาลัย (โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้) ท่าน อมรวิชช์ นาครทรรพ นักวิชาการการศึกษา ที่มีความเข้าใจลึกซึ้งในปัญหาของการอุดมศึกษาไทย ท่าน มีชัย วีระไวทยะ ที่ท่านดูแลโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (โรงเรียนนอกกะลา) ท่านกมล รอดคล้าย ที่ดูแลรับผิดชอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน และขอชี้ให้เห็นจุดเด่นของ 5 ชาติที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากข้างเวที ดังนี้ 

 

ฮ่องกง มีรูปแบบการปฏิรูปการศึกษาที่สุดตรงปัญหาที่สุด สามารถตอบคำถามของประเทศไทยได้ ฮ่องกงดินแดน "ตะวันตกพบตะวันออก East meet West" "ขงจื้อปะทะอริสโตเติล" 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่คนทั้งประเทศมีความรู้สึกร่วมกันว่า จำเป็นจะต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ให้ได้อย่างสง่างาม 

 

รัฐบาลฮ่องกงเข้าใจปัญหาการศึกษาของชาติจริง จึงสร้างยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาออกเป็น 4 ด้าน คือ (1) ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปเนื้อหารายวิชาให้สอดคล้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตจริงและสัมพันธ์กับความเป็นจริงในสังคมในศตวรรษหน้า (2) ปฏิรูปครูและวิธีสอนของครู การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง Learning by doing ผ่านระบบโครงงาน ผ่านการฝึกงานในสถานประกอบการฯ (3) ปฏิรูปวิธีวัดผลและประเมินการเรียนรู้ ที่สะท้อน (Reflex) ให้รู้ได้จริงว่าผู้เรียนมีความรู้มีความสามารถจริงเพียงใด ข้อสอบจึงเป็นแบบการเขียนตอบแบบบรรยาย (Written Examination) และประเมินผลจากการนำเสนอผลงานหรือเสนอโครงงาน 

 

(4) ปฏิรูปด้านปัจจัยสนับสนุนการศึกษา เช่น ปฏิรูปโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการและปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น การปรับโครงสร้างการจัดองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ในกระทรวงศึกษาธิการ ตรงกับปัญหาของการศึกษาไทยที่สุด

 

 

 

สิงคโปร์ มีจุดเด่นน่านำเอามาเป็นต้นแบบมากที่สุด ในเรื่องการเรียนเพื่อเอาความรู้ไปประกอบอาชีพ ผู้เรียนรู้ว่าอนาคตตนเองอยากทำอาชีพอะไรตั้งแต่ชั้น ม.ต้นแล้ว มีหลักสูตรชัดเจน จัดการเรียนเป็นขั้นเป็นตอนที่ชัดเจน ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยที่มีคุณภาพสูง ระดับประถมต้นเป็นการเตรียมความรู้พื้นฐานในวิชาแกนที่สำคัญ 3 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ และคณิตศาสตร์ ชั้นประถมปลายแยกเด็กออกเป็นกลุ่มตามกลุ่มภาษาแม่ 3 กลุ่ม คือ อังกฤษ จีน และทมิฬ และได้ปลูกฝังความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบในระดับนี้แล้ว ในระดับชั้นมัธยมศึกษามี 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร 4 ปี สำหรับเด็กเก่งและหลักสูตร 5 ปี สำหรับเด็กกลุ่มทั่วไป เด็กจะเลือกเรียนในสายวิชาการหรือสายอาชีพที่ตนถนัด จบระดับมัธยมศึกษาแล้ว เด็กสามารถเลือกเรียนหลักสูตรโพลีเทคนิค และหลักสูตรเตรียมมหาวิทยาลัยได้ 

 

การศึกษาขั้นพื้นฐานของสิงคโปร์ทุกช่วงชั้นมีความหมายต่อเด็กมาก เด็กรู้ว่าตนเองอยากทำอาชีพอะไรตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษาแล้ว เด็กได้เรียนรู้จากการกระทำได้ฝึกปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับคนทั่วโลก มองทั่วโลกคือบ้านและสถานที่ทำงานของตน 

 

ระดับประถมศึกษา ป.1-4 เรียนเน้นวิชาแกนเพียง 3 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ และคณิตศาสตร์ (เลข คัด เลิก) เด็กก็จะเลือกเรียนภาษาแม่ของตนเองกับภาษาอังกฤษจนเก่ง นอกนั้นเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างนิสัยสร้างสุนทรียภาพผ่านกิจกรรม ชั้น ป.5-6 เด็กก็จะแยกกลุ่มเรียนตามสายภาษาแม่ ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มภาษา คือ อังกฤษ จีน และทมิฬ ในชั้น ป.6 เด็กจะต้องสอบวัดผลที่สำคัญเรียกว่า PSLE : Primary School Leaving Examination เพื่อคัดเลือกเข้าไปเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตร 5 ปี 

 

พอเข้าชั้นมัธยมศึกษา เด็กก็จะแยกสายวิชาการเรียนไปเลยตามความสนใจ ตามที่เขาอยากประกอบอาชีพในอนาคต เด็กส่วนมากจะเรียนในสายอาชีพมากกว่าสายสามัญ เด็กสิงคโปร์ที่เรียนในระดับมัธยมศึกษา รู้แล้วว่าตนเองจะไปประกอบอาชีพอะไรชัดเจน เด็กจึงสนุกที่จะเรียน สนุกที่จะแสวงหาความรู้ และมีเด็กบางส่วนที่จบมัธยมศึกษาแล้วออกไปทำงานเลย หรือไปศึกษาต่อในโพลีเทคนิค แต่ลึกๆ ทุกคนก็อยากจบปริญญาตรี การศึกษาในทุกระดับมีความหมายมากต่อเด็ก 

 

ฟินแลนด์ เป็นต้นแบบของการศึกษาในเรื่องคุณภาพสูงสุดในโลก เวลาเรียนน้อยกว่าหลายชาติแต่คุณภาพสูง นักเรียนมีความสุขในการเรียน เด็กได้ความรู้ความสามารถติดตัวกลับมาบ้านจริง ไม่กดดันนักเรียน เด็กอยากไปโรงเรียน การสอน ครูสร้างแรงจูงใจในตัวผู้เรียนและสร้างพลังแรงขับที่เกิดขึ้นภายในตัวเด็กเอง การวัดผลการเรียนไม่เน้นการสอบ แต่ดูจากผลการพัฒนาการทางสังคมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ เด็กแต่ละบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน มีทัศนคติในแง่บวกต่อคนรอบข้างและต่อวัฒนธรรมที่แตกต่าง เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง 

 

เด็กสามารถเดินตามความฝันของตนเองได้ ครูเก่ง มีจิตวิญญาณครูสูง ผู้ปกครองและสังคมให้ความเชื่อมั่น (Trust) ในตัวครูสูง ครูจึงสามารถพลิกแพลงวิธีการสอนของตนเองได้อย่างอิสระ รัฐบาลของฟินแลนด์ไว้วางใจโรงเรียน ไว้วางใจครู ไม่หวาดระแวง (Paranoid) ในการทำงานของโรงเรียน ไม่ต้องมี สมศ. สทศ. กคศ. ให้ครูต้องปวดตับ ไม่มีการวัดผลมาตรฐานการศึกษาของชาติ (National Test) มีเพียงการสอบวัดผลระดับชาติเพียงครั้งเดียวตอนจบชั้น ม.ปลาย เพื่อเอาคะแนนไปเข้ามหาวิทยาลัย 

 

ญี่ปุ่น ดูเรื่องการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพผ่านกิจกรรมของนักเรียน ดูความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ รักความสะอาด มีน้ำใจดูแลคนอื่นก่อนตนเอง นักเรียนมีภาวะผู้นำ ชาวญี่ปุ่นให้ลูกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตนเองตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา พ่อแม่ไม่ต้องตามไปรับไปส่ง เป็นการฝึกความรับผิดชอบให้กับเด็ก 

 

ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งคือ "วัฒนธรรมไคเซ็น (Kaizen)" ที่เชื่อว่างานที่ทำไปในวันนี้ไม่ได้สมบูรณ์ที่สุด ต้องมีอะไรบกพร่องบ้าง ดังนั้นจึงต้องมีการประชุม (Meeting) ก่อนเริ่มงานทุกวัน จนเกิดเป็นนิสัยประจำชาติ อันเป็นที่มาของระบบการควบคุมคุณภาพของการผลิต (TQM : Total Quality Management) ทำให้ญี่ปุนมีความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ การให้ความเคารพอาวุโส การทำงานเป็นทีม 

 

เด็กญี่ปุ่นเรียนหนักแข่งขันกันเองสูง การได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีมีชื่อเสียงคือความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมาก การเรียนกวดวิชาเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจึงเป็นความจำเป็น

 

เกาหลีใต้ เรียนหนัก เรียนเอาเป็นเอาตาย ถ้าอยากเครียด อยากเก่ง อยากเป็นที่ 1 ในโลก ให้ดูตัวอย่างของเกาหลีใต้ เรียนตลอดวัน เรียนถึงกลางคืน เรียนแบบต้องแข่งขันกันตลอดเวลา ใช้สื่อเทคโนโลยีช่วยสอนทุกอย่างที่มีคุณภาพสูง ครูมีคุณภาพสูง พัฒนาห้องเรียนทันสมัยตลอดเวลา การจัดการศึกษาก็มีคุณภาพสูง เวลาเด็กสอบสำคัญที่สุด รัฐบาลยอมสั่งงดเที่ยวบินบินผ่านบริเวณที่เด็กสอบ ทุกคนในครอบครัวจะเครียดเรื่องการเรียน 

 

เป้าหมายการศึกษาต้องเป็นที่ 1 ให้ได้ ต้องเอาชนะประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ มีหลักสูตรกิจกรรมบริการสาธารณะให้นักเรียนได้ดูแลชุมชนด้วย ปีละ 10-20 คาบ สิ่งที่น่าเรียนแบบคือ ความทุ่มเท มุ่งมั่น และการนำนวัตกรรมมาช่วยสอน

 

 

 

จากต้นแบบ 5 ประเทศดังกล่าว ให้เลือกเอาสิ่งที่ดีที่เหมาะสมกับไทยมาใช้ในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ แต่ข่าวปฏิรูปการศึกษาของเรากลับข้างกับฮ่องกง ของเราเอาลำดับที่ 4 มาเป็นลำดับที่ 1 คือจะปฏิรูปกระทรวงก่อน แยกอาชีวะ ประถม มัธยม อุดมศึกษา ออกจากกัน แล้วบอกว่าจะปฏิรูปจากข้างล่างขึ้นข้างบนแต่กลับเอาบนลงล่าง ก็แปลกดี ไม่ว่ากัน ขอให้ปฏิรูปใน 4 เรื่องนี้เหมือนฮ่องกงเขาก็พอ 

 

การปฏิรูปหลักสูตรมีความจำเป็นจริง รายวิชาที่ใช้จริงในชีวิตกลับไม่มีสอนในโรงเรียน เช่น วิชาความรู้เรื่องการเงิน ลองกลับไปอ่านหนังสือ "พ่อรวยสอนลูกของ Robert T. Kiyosaki" ชาวอเมริกันดูวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองศีลธรรม หรือวิชาคุณลักษณะตามแบบประเทศลาว วิชาคนหรือวิชาการสมัยใหม่ทางเทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์ทั่วโลก เป็นต้น 

 

ชื่อวิชา (Subject) ให้กลับมาใช้ชื่อคำว่า "วิชา" แทนคำว่า "สาระการเรียนรู้" เพราะคำว่าสาระการเรียนรู้ไม่สื่อความหมาย ครู ผู้ปกครอง นักเรียน สับสนคำว่า "วิชา" เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งประเทศมาเป็นเวลาร้อยปีแล้ว คำว่า "สาระการเรียนรู้" ไม่ทราบว่าผู้บัญญัติได้นำมาจากคำว่า Syllabus หรือ Theme หรืออะไร เป็นครูมาจนเกษียณยังไม่เข้าใจ 

 

การปฏิรูปการวัดผลการเรียนรู้ ไทยไม่เคยปฏิรูปการวัดผลการเรียนรู้มานานแล้ว ปฏิรูปทุกครั้งไม่เคยได้พูดถึงการปฏิรูปการวัดผลเลย ทั้งๆ ที่การวัดผลคือปัญหาตัวที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่ง แต่เครื่องมือวัดผลการศึกษาของไทยมีปัญหามาก ไม่สะท้อนผลการเรียนของผู้เรียน เราใช้ข้อสอบแบบ Check list, Mark, Multiple Choice เป็นหลัก ระบบการจัดทำระเบียนวัดผลก็สับสนยุ่งยากไม่สะท้อนให้ผู้ปกครองเข้าใจ 

 

การปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงต้องทำ จัดให้ถูกฝาถูกตัว ใครอยากแยกอยากรวมให้พิจารณาวินิจฉัยอย่าให้ผิดฝาผิดตัวอีก องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ที่สร้างปัญหา ไม่มีประโยชน์ ก็ให้ยกเลิกไปเลย 

 

การประเมินวิทยฐานะครูให้ยกเลิกการประเมินกระดาษ ให้ไปดูที่คุณภาพของนักเรียนที่ครูสอนเป็นสำคัญ ถ้าเด็กเก่ง มีผลการเรียนดี ได้คะแนนสูงขึ้น เด็กนิยมชมชอบวิธีการสอน มาเป็นข้อตัดสิน การประเมินผลอาหารที่อร่อยให้ไปถามผู้บริโภค ไม่ใช้ให้ไปอ่านรายงานวิธีการปรุงอาหารที่พ่อครัวเขียนขึ้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก