ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

หนังสือเป็นเครื่องมืออันวิเศษพัฒนาเด็กปกติและพิการทางสายตา

วันที่ลงข่าว: 05/02/15

               ภายใต้ร่มเงาของหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน นอกจากจะเต็มไปด้วยแหล่งเรียนรู้งานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทุกๆ ด้านแล้ว ล่าสุดสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ เปิด “ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาหนังสือไทย” โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน เปิดเป็นศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาด้านการอ่าน การเขียน สำหรับเด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้พิการทางสายตา ได้อ่านหนังสือ และแสดงศักยภาพของตนเองด้วยการเขียนหนังสือออกเป็นรูปเล่ม บอกเล่าประสบการณ์ให้คนในสังคมได้รับรู้ ถือเป็นกิจกรรมที่จะมอบเป็นของขวัญให้เด็กๆ และคนไทยตามนโยบายของรัฐบาล  

 

               “หนังสือเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ช่วยเก็บรักษาและเป็นสื่อแสดงความคิด เป็นศิลปะและแสดงถึงความงามอันประณีตในจิตใจของมนุษย์” พลอย หรือ น.ส.สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้พิการดวงตาที่มาร่วมโครงการฝึกฝนผู้มีดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ เปิดเผยความรู้สึก และยังเห็นว่า ปัจจุบันผู้มีดวงตาพิการจำนวนมากปรารถนาอยากจะถ่ายทอดความคิด สิ่งที่เห็นและสัมผัสให้ผู้อื่นได้รับรู้ผ่านทางหนังสือ บางคนอาจทำได้สำเร็จ แต่อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการการสนับสนุนส่งเสริมและฝึกฝนให้พัฒนาเพิ่มเติม

 

               “พลอยชอบอ่านหนังสือ จึงมีแรงบันดาลใจที่จะเขียน อยากให้ทุกคนเริ่มจากการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเราออกมา แล้วมันก็จะพัฒนาไปได้ พลอยเลือกเรียนบรรณาธิการ โดยหวังว่าสักวันจะได้ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ แต่ก็ไม่รู้ว่า ถ้าได้เข้าไปทำงานจริงๆ จะได้ทำหน้าที่ตรงจุดไหนของงานบรรณาธิการ ในฐานะผู้ที่เข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ พลอยมั่นใจว่า โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ดวงตาพิการได้รับความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ช่วยขยายโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น และสิ่งสำคัญคือ งานเขียนจะช่วยเชื่อมโลกของผู้ดวงตาพิการและคนปกติเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี” 

 

               ด้าน ด.ญ.ซายูริ ซากาโมโตะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนราชินีบน ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการมอบสมุดให้เด็กฝึกเขียนบันทึกแต่วัยเยาว์ กล่าวว่า “ซายูริชอบอ่านหนังสือแนวธรรมชาติ ที่คุณแม่ซื้อให้ ชอบเขียนบันทึกสิ่งที่เห็น ซายูริเริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เขียน ซายูริอยากชวนเพื่อนๆให้มาฝึกเขียนบันทึกด้วยกันทุกวันคะ”

 

               อาจารย์มกุฏ อรดี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า เราเริ่มต้นด้วยการฝึกฝนผู้พิการให้เริ่มเขียนหนังสือ โดยเชื่อมคนตาดีและคนมองไม่เห็นได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติ อย่างเป็นสุข และมีพัฒนาการร่วมกัน ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาบรรณาธิการศึกษา ปรากฏว่า นักเรียนที่มองไม่เห็น ทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนที่มองเห็นแทบจะทุกครั้ง และทำให้เราเห็นว่า เราสามารถพัฒนาและดึงศักยภาพของเขาออกมาได้อย่างมาก

 

               ด้าน นายชาย นครชัย ผู้อำนวยการ สศร. กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาหนังสือไทยจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยปลูกฝังและพัฒนาทักษะการอ่านหนังสือให้มากขึ้น ช่วยให้เยาวชนรักและใส่ใจหนังสือไทย ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย ซึ่งจัดขึ้นภายในหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ภาพที่เห็นในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่พร้อมจะพัฒนาและต่อยอดออกไปในอนาคต เช่น นักเขียนน้อยของเราในวันนี้ อนาคตอาจกลายเป็นนักเขียนหรือนักเขียนบทภาพยนตร์ชื่อดังได้

 

 

หนังสือเป็นเครื่องมืออันวิเศษพัฒนาเด็กปกติและพิการทางสายตา : ผกามาศ ใจฉลาดรายงาน

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 20 มกราคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก