ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำวิจัยเรื่อง การแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสีและการรับรู้สีสันของภาพศิลปะ โดยใช้ระดับเสียงสำหรับคนตาบอด

วันที่ลงข่าว: 30/01/15

รองศาสตราจารย์ ดร.ศจี สัตยุตม์ ผุ้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ดร.สัญชัย สันติเวส อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานวิจัย ร่วมกันแถลงข่าวผลงานวิจัยเรื่อง การแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสีและการรับรู้สีสันของภาพศิลปะ โดยใช้ระดับเสียงสำหรับคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด งานวิจัยเรื่อง การแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสีและการรับรู้สีสันของภาพศิลปะ โดยใช้ระดับเสียงสำหรับคนตาบอดสนิทตั้งแต่กำเนิด เป็นกิจกรรมการรับรู้สีสันและรูปร่างของภาพศิลปะ2 มิติ ซึ่งได้ลดทอนรายละเอียดและจำนวนสีลงให้ง่ายขึ้น และแสดงออกด้วยการวาดภาพระบายสี ใช้วิธีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ใช้การรับรู้สีสันด้วยการแทนรหัส แปลงค่าจากหุ่นจำลองสี อาร์จีบี ไปเป็น เอชแอลเอส แล้วเทียบกับระดับเสียงของโน้ตดนตรี รังสรรภาพวาดด้วยปลายนิ้วผ่านจอภาพแบบสัมผัส แถบสีของโปรแกรมในระดับผู้เริ่มต้นมีจำนวน 12 สี ใช้การวิเคราะห์ตีความจากคำอธิบายที่มีต่อภาพศิลปะที่สัมผัส การวิเคราะห์ภาพผลงานด้วยการวิจารณ์ศิลปะ

 

โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยสร้างสรรค์จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี 2555 และทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2555 ดร.สัญชัย สันติเวส เจ้าของผลงานวิจัย กล่าวว่า งานศิลปะ เป็นการแสดงออกผ่านเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง โดยรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียงและการสัมผัส ซึ่งสมองจะตีความจากการรับรู้ส่งผลต่อสภาพกายและจิตใจของผู้สัมผัสงานศิลปะซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันตามความรู้ความเข้าใจแต่ละคน แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถรับรู้งานศิลปะได้ด้วยการมองเห็น นั่นคือคนพิการทางสายตา ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาเพื่อสร้างอุปกรณ์เครื่องมือและโปรแกรมด้วยการใช้การฟังระดับของเสียงแทนรหัสของสีสันผ่านเทคโนโลยีจอภาพแบบสัมผัส เพื่อให้ผุ้พิการทางสายตาสามารถสร้างและเรียนรู้งานศิลปะได้ด้วยตนเอง ช่วยให้คนพิการทางสายตาได้รับรู้และเข้าถึงภาพศิลปะอันมีคุณค่า ก่อให้เกิดพัฒนาการของมนุษยชาติ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นเดียวกับคนสายตาปกติ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก