ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กรมการแพทย์จัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา นำร่องที่ จ.นครศรีธรรมราช

วันที่ลงข่าว: 30/01/15

นายแพทย์ สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานพิธีมอบเขาเทียมและอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลือความพิการแก่คนพิการ ที่ศาลาประชาคมอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อม นายศิริพัฒ พัฒกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ คณะ ร่วมกันมอบขาเทียมและอุปกรณ์ช่วยเหลือแก่ ผู้พิการขาขาด ที่มีความดีใจหลังจากได้รับมอบอุปกรณ์

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลัก ขับเคลื่อนพัฒนาระบบสุขภาพคนไทยในกลุ่มผู้สูงอายุและคนพิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจเมื่อปี 2550 พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการ ประมาณร้อยละ 2.9 ของประชากรทั่วประเทศ หรือ กว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการขาขาด ประมาณ 46,000 ราย สาเหตุความพิการส่วนใหญ่เกิดจากโรคเรื้อรัง หลอดเลือดตีบที่ขา เช่น โรคเบาหวาน รองลงมาเกิดจากอุบัติเหตุจราจร ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.9 เป็นผู้สูงอายุ และในแต่ละปีมีผู้ที่ต้องถูกตัดขา กลายเป็นคนพิการ ประมาณ 3,500 ราย คาดว่ามีผู้พิการขาขาดไม่ต่ำกว่า 19,310 ราย เข้าไม่ถึงบริการขาเทียม จากข้อจำกัด ขาเทียมมีราคาสูง เดินทางลำบากและขาดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะในการจัดทำขาเทียม กรมการแพทย์ได้จัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ช่วยเหลือคนพิการ ให้ดำเนินชีวิต ช่วยเหลือตนเอง ประกอบอาชีพ หารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เท่าเทียมกับคนปกติในปีงบประมาณ 2558 มีแผนดำเนินการ 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช แม่ฮ่องสอน พิจิตร และ จ.ชลบุรี

นายแพทย์จิรพันธ์ เต้พันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราช มีประชากรกว่าล้านห้าแสนคน มีผู้พิการ 38,554 คน เป็นผู้พิการขาขาด 862 ราย สำหรับการจัดทำโครงการฯ นี้ ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-19 ธันวาคม 2557 จัดอบรมเรื่อง พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์กว่า 300 คน ให้บริการตรวจประเมิน ออกเอกสารรับรองความพิการ แก่ผู้พิการที่ยังไม่เคยจดทะเบียน เพื่อนำไปทำบัตรประจำตัวผู้พิการ หรือ ทำบัตรหาย รวม 82 ราย ผลิตขาเทียม 96 ราย ซ่อมขาเทียม 30 ราย มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือแก่คนพิการที่ขาขาด ที่ไม่สามารถใช้ขาเทียม ได้แก่ ไม้เท่า 29 ชิ้น รถเข็น 5 คัน รถโยก 2 คัน และผลิตแขนเทียมแก่คนพิการเป็นกรณีพิเศษ 8 ราย

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก