ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบรมพัฒนาเพิ่มความรู้และทักษะแก่ช่างทำขาเทียม ในพื้นที่จังหวัดน่าน

วันที่ลงข่าว: 30/01/15

มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดน่าน จัดฝึกอบรมพัฒนาเพิ่มความรู้และทักษะให้แก่ช่างทำขาเทียมให้มีทักษะฝีมือที่ได้มาตรฐาน จำนวน 65 ราย ที่ หน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ของมูลนิธิขาเทียม ครั้งที่ 132 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการในท้องถิ่น ให้เป็นช่างที่มีฝีมือ สามารถปฏิบัติงานในโรงงานขาเทียมของโรงพยาบาลชุมชนและพัฒนาบุคลากรบริการจัดทำขาเทียมให้คนพิการขาขาดได้รับขาเทียมที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างโอกาสให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดภาระแก่สังคม และถวายเป็นพระราชกุศล ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบรอบ 87 พรรษา ที่จะเวียนมาบรรจบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 โดยมี นายประทีป ทรงลำยอง หัวหน้าผู้ตรวจราช กรมพัฒนาฝีมือแรงาน เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม ทั้งนี้การฝึกอบรมแบ่งออกเป็นภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ มีวิทยากรผู้มีความชำนาญสูงจากมูลนิธิขาเทียมฯ เป็นผู้ฝีกให้ความรู้ในการสร้างเบ้าจากหุ่นทราย ซึ่งมีความแม่นยำ รวดเร็ว ประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งต่างจากวิธีดั้งเดิมที่ใช้ปูนพลาสเตอร์ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการทำขาเทียมให้กับคนพิการในพื้นที่จังหวัดน่านและใกล้เคียง จำนวน 200 คน ที่ยังขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต ในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ ซึ่งการทำขาเทียมดังกล่าว มีระยะเวลาทำการไปจนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 โดยผู้พิการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆทั้งสิ้น

นายนายประทีป ทรงลำยอง หัวหน้าผู้ตรวจราชกรมพัฒนาฝีมือแรงาน กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดขาดแคลนช่างประเภทนี้ จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อฝึกจบแล้วจะมีงานรองรับทันที นับเป็นโอกาสที่ดีของผู้เข้าอบรมไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แถมได้รับวัสดุและอุปกรณ์เครื่องมือประกอบอาชีพภายหลังการฝึกอบรมเพื่อเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพ เพราะเราต้องการพัฒนาช่างท้องถิ่นให้มีฝีมือ รวมถึงการสร้างโอกาสให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้หลังการฝึกอบรมเสร็จสิ้นจะมีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทั้งในระดับ 1 และระดับ 2 เพื่อเข้าทำงานเป็น ช่างอุปกรณ์คนพิการ ในโรงพยาบาลชุมชนต่อไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก