ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ สำรวจพบจำนวนผู้สูงอายุใกล้ 10 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่สุขภาพแข็งแรง ที่เหลือร้อยละ 95 เจ็บป่วยมีโรคประจำตัว

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

นายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็น วันผู้สูงอายุสากล เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงคุณค่า และให้ความสำคัญการดูแลใส่ใจกับผู้สูงอายุ ประเทศไทย พบผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2557 พบมีผู้สูงอายุ จำนวน 9.93 ล้านคน หรือ ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด เมื่อสำรวจสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ จำนวน 14,000 คนใน 28 จังหวัด พบผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงเพียงร้อยละ 5 ที่เหลือ กว่า 9 ล้านคนมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึมเศร้า ข้อเข่าเสื่อม ในจำนวนนี้ ประมาณ 200,000 คน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่ติดบ้านติดเตียง และยังพบผู้สูงอายุร้อยละ 8 หรือประมาณ 800,000 คน ที่อยู่บ้านคนเดียว

กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดระบบดูแลผู้สูงอายุ เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน เน้นให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในชุมชนและครอบครัวอย่างมีความสุข ได้รับบริการใกล้บ้าน จัดระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวสอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ ให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน จัดคลินิกบริการผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะทั้งด้านกายและจิต ปรับสภาพโรงพยาบาลทุกแห่งให้เป็นอาคารแบบอารยสถาปัตย์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัย เช่นห้องน้ำ ใช้ส้วมนั่งราบ และมีราวจับ ปรับทางขึ้นลงให้เป็นทางลาดแทนบันได และเน้นการตรวจคัดกรองสุขภาพเพื่อจัดกลุ่มดูแลอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน จะสนับสนุนให้เกิดต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานในชุมชน ขณะนี้ ดำเนินการได้แล้ว 2,000 เทศบาล/ตำบล ในปีนี้จะเพิ่มเป็น 2,300 แห่ง และให้ครอบคลุมทุกตำบล ในปี 2564 โดยตำบลต้นแบบ จะมีระบบข้อมูลผู้สูงอายุในตำบลทั้งที่ปกติ และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีทีมสหวิชาชีพสาธารณสุขดูแลเยี่ยมบ้านกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ร่วมกับทีมอาสาสมัครและญาติ

นอกจากนี้ ยังได้เริ่มนำร่องโครงการเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุใน 2 พื้นที่ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2557-2559 เพื่อพัฒนาเมืองให้รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ รวมทั้ง ผู้พิการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ใช้บริการตามสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล รถประจำทางมีทางขึ้น และที่จอดรถนั่งผู้พิการ ส่งเสริมงานให้ผู้สูงอายุมีรายได้ และเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขและรู้สึกภาคภูมิใจ รวมทั้งขยายผลต่อไปยังเทศบาลนครที่มีความพร้อม ขณะนี้ หลายประเทศดำเนินการแล้วได้ผลดี อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สวีเดน และอังกฤษ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก