ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับกรมการแพทย์มอบขาเทียมและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการ

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

วันนี้( 25 ก.ค. 2557) เวลา 10.00 น. นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบขาเทียมและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการตามโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาดประจำปี 2557 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา ณ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา โดยมี นายภานุ แย้มศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ชัยวัฒน์ ทองไหม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีม อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้พิการและผู้ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 1000 คนร่วมงาน

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่างานนี้จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คนพิการขาขาดสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวตลอดจนใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับคนปกติซึ่งพบผลการสำรวจคนพิการทั่วประเทศโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2550 ระบุว่ามีคนพิการประมาณร้อยละ 2.9 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณกว่า 2 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นคนพิการขาขาดประมาณ 46,000 ราย สาเหตุความพิการส่วนใหญ่เกิดจากโรคเรื้อรังที่มีปัญหาหลอดเลือดตีบที่ขา เช่น โรคเบาหวาน รองลงมาคืออุบัติเหตุจราจร นอกจากนี้ในแต่ละปีจะมีผู้ที่ต้องถูกตัดขากลายเป็นคนพิการรายใหม่ราว 3,500 ราย ซึ่งคาดว่ามีคนพิการขาขาดอีกไม่ต่ำกว่า 19,310 ราย ไม่สามารถเข้าถึงบริการขาเทียมได้ด้วยข้อจำกัดหลายปัจจัยทั้งจากราคาอุปกรณ์ ขาเทียมที่ค่อนข้างสูงการเดินทางของคนพิการที่ค่อนข้างลำบาก หรือการที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางในการจัดทำขาเทียม กรมการแพทย์จึงได้กำหนดนโยบายและแผนงานเพื่อสนับสนุนผลักดัน แก้ไขปัญหาคนพิการที่ต้องถูกตัดขา ให้กลับมามีชีวิตปกติ โดยการจัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการให้กับคนพิการขาขาด ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มีแผนดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส นครราชสีมา และภูเก็ต

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากร 2,614,552คนมีจำนวนคนพิการที่จดทะเบียนตามกฎหมายมากเป็นระดับหนึ่งของประเทศโดยสูงถึง43,649 คน ร้อยละ 1.66 โดยเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวสูงถึง 20,138 คน ร้อยละ 46.14 และมีผู้พิการขาขาด 769 ราย ร้อยละ 38.20 จึงได้จัดโครงการส่งเสริมศักยภาพคนพิการขาขาดประจำปี 2557 กรมการแพทย์ กระทรวง สาธารณสุข ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมามีการดำเนินงานทั้งด้านวิชาการโดยจัดการอบรม เรื่อง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 แก่ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ด้านบริการช่วงแรกเป็นการให้บริการหล่อแบบตอแขน-ขา แก่คนพิการ ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในผลิตแขน-ขาเทียมโดยมีผู้รับบริการจำนวน 244 ราย ซึ่งในวันที่ 21-25 กรกฎาคมนี้เป็นการจัดบริการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการเพื่อนำไปจดทะเบียนคนพิการแก่คนพิการที่ยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรหายซึ่งจะส่งผลให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ /ตามกฎหมาย ผลิตขาเทียม 289 ราย ซ่อมขาเทียม 2 ราย แขนเทียม 9 รายและในรายคนพิการขาขาดที่ไม่สามารถใช้ขาเทียมได้ได้มอบอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยการเดิน 20 ราย รถเข็นนั่ง 1 คัน คาดว่าการพัฒนาศักยภาพของคนพิการในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพร่างกาย ตลอดจนด้านจิตใจและสังคมสามารถปรับเปลี่ยนคนพิการให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการที่จะช่วยเหลือตนเองหากได้รับการฝึกอาชีพที่เหมาะสมจะสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก