ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยวิจัยทิศทางทรัพยากรคนรับอาเซียนบวก ๖

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

งานวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ของไทยพบว่าไทยต้องผลิตคนสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณภาพการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต่างกันมีผลต่อค่าจ้างแรงงาน

รศ ดร จิรประภา อัครบวร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายฝ่ายงานประกันคุณภาพนานาชาติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า อยู่ระหว่างจัดทำงานวิจัยแนวโน้มการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ โดยศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยกับประเทศอาเซียนบวก ๖ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย)รวมถึงแนวโน้มงานทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียน

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า องค์กรของไทยแนวโน้มสนใจงานรับผิดชอบต่อสังคม เป็นอันดับแรก รองลงมาคืองานบริหารผลการปฏิบัติ งานพัฒนาสายอาชีพ และงานฝึกอบรมพัฒนา ส่วนแนวโน้มที่องค์กรไทยให้ความสำคัญลดลงหรือไม่ทำเลยคือการวางแผนกำลังคน ส่วนใหญ่เน้นวางแผนหาคนทดแทนคนเก่าที่ออกไปมากว่าวางแผนกำลังคนเพื่อรองรับความต้องการในอนาคตขององค์กร

รศ ดร จิรประภา อัครบวร กล่าวกล่าวว่า แนวโน้มที่สำคัญมากขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ การวางแผนให้ค่าเงินเดือนตามคุณภาพการศึกษาของแต่ละประเทศที่มีไม่เท่ากัน ในอนาคตการเติบโตของแรงงานไทยจะน้อยที่สุดใน ๑๐ ประเทศอาเซียน จึงต้องวางแผนผลิตคนบางสายวิชามาใช้งานให้ทัน โดยเฉพาะคนในสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกร และเทคโนโลยี ที่ทั่วโลกต้องการมาก

ขณะเดียวกันต้องมีฐานข้อมูลคุณภาพคนในแต่ละสาขาอาชีพของแต่ละประเทศในอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาคนเหล่านั้น ส่วนการให้ค่าเงินเดือนควรเปลี่ยนจากดูวุฒิการศึกษาเป็นการนำคุณภาพการศึกษาแต่ละระดับของแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากันมาคำนวณด้วย โดยเฉพาะลาว เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่องค์กรไทยจะไปทำงานด้วยมาก แต่คุณภาพการศึกษาน้อยกว่าไทย

นอกจากนี้ จากการสำรวจมุมมองต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคลจาก Linkedin เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นเครือข่ายสังคมที่เน้นเครือข่ายธุรกิจ พบว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องเตรียมเผชิญความท้าทายกับแนวโน้มสถานที่ทำงานในปี ๒๕๖๓ หรือใน ๖ ปีข้างหน้า ซึ่งจะมี ๕ ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ๑) ภาวะการมี ๔ เจนเนอเรชั่นในองค์กร ๒) องค์กรจะมีลักษณะกระจายตัวไปอยู่ทั่วโลกมากขึ้น ๓) คนจากประเทศอาเซียนจะมาทำงานในไทยมากขึ้น ๔) องค์กรจะเผชิญแรงกดดันดำเนินธุรกิจหวังผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ และ ๕) เทคโนโลยีกับสังคมออนไลน์จะมีส่วนในการบริหารองค์กรมากขึ้น

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก