ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พัฒนาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

นายกรัฐมนตรีระบุอาชีวศึกษามีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี ๒๕๕๘ จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน จะต้องเร่งพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศและตลาดแรงงาน พร้อมสั่งการให้สำนักงานคณะ กรรมการอาชีวศึกษา (สอศ) สำรวจแรงงานแต่ละสาขาว่ามีจำนวนเท่าไหร่เพื่อให้สถานประกอบการคัดเลือกแรงงานตามความต้องการได้ทันที

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสจัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย เมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย. ๕๗ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยกล่าวในตอนหนึ่งของปาฐกถาว่า ในช่วงปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ต้องใช้โอกาสที่ได้เปรียบให้เต็มที่ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยต้องมองตัวเองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน เพื่อที่จะได้รู้ว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับประเทศอื่น ๆ ในด้านใดบ้าง อีกทั้งความท้าทายคือการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและของโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่าอาชีวศึกษามีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยระบบทวิภาคี คือ การจับคู่ สถานศึกษากับสถานประกอบการเพื่อพัฒนาคนให้มีทักษะฝีมือและมีคุณภาพ ดังนั้น ขอฝากให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักศึกษา ต้องสร้างความเชื่อมโยง และขอให้จัดทำแผนแม่บทในการทำงานว่าในอีก ๕ – ๑๐ ปี ประเทศไทยต้องการกำลังคนด้านใดบ้าง จำนวนเท่าไรให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งหากทำตามนี้ก็จะสามารถพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนแรงงานอาชีวะหลายหมื่นคน และในปี ๒๕๕๘ จะเพิ่มเป็นหลายแสนคน ดังนั้นขอให้ สอศ.ไปสำรวจแรงงานแต่ละสาขาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นให้นำมาพัฒนาต่อยอดและขึ้นบัญชีไว้เพื่อให้สถานประกอบการได้คัดเลือกแรงงานตามความต้องการจากบัญชีดังกล่าวได้ทันที เพราะถือว่าเป็นแรงงานที่ได้รับการพัฒนาแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนให้สามารถพูดสื่อสารได้ รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักและเห็นความสำคัญในการจัดการอาชีวศึกษา จึงมีนโยบายให้ สอศ. มีหน้าที่ผลิตกำลังคนในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของทุกภาคส่วน การจัดทำร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเป็นการสร้างความเข้มแข็ง เชื่อมโยง แสวงหาเครือข่ายในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญ ประมาณร้อยละ ๓๕ : ๖๕ เท่านั้น แต่นโยบายของรัฐบาลต้องการให้เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษามากขึ้นอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันการเรียนในระดับอาชีวศึกษาสามารถเรียนได้ทั้งในระดับประกาศนียบัตรจนถึงปริญญาบัตร นอกจากนี้ในการส่งเสริมอาชีวศึกษา จะต้องปรับกลยุทธ์ด้านครูผู้สอน เพื่อให้ครูเก่งๆ เข้ามาสอนในระดับอาชีวศึกษาได้มากขึ้น

 

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก