ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ราชบัณฑิตให้ความสำคัญภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

ราชบัณฑิตยสถานจัดโครงการภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘

ราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดเสวนาทางวิชาการภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ที่ผ่านมาโดย ศ.ดร.สันทัด โรจนสุนทร นายกราชบัณฑิตยสถาน กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ปี ๒๕๕๘ เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนคงต้องทำมากขึ้น ประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศ มีความสำคัญระดับโลก ราชบัณฑิตสถานได้จัดทำโครงการภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เพื่อให้ความรู้ภาษาอาเซียนแก่ประชาชน เพราะเห็นว่าสิ่งที่สำคัญ คือ เรื่องการสื่อความ เพราะอาเซียนมีหลายภาษา

ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีเครือข่ายราชบัณฑิตยสถาน ประธานคณะกรรมการจัดทำเนื้อหาวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาษาและวัฒนธรรมในอาเซียน ว่า อาเซียนมี ๑๐ ประเทศ บางประเทศประกาศภาษาทางการภาษาเดียว ขณะที่บางประเทศก็มีหลายภาษา แต่ภาษาที่ถือเป็นภาษาหลักของประชาคมอาเซียนมี ๑๐ ภาษา คือ คแมร์(กัมพูชา) ไทย มลายูบรูไน เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ บาฮาซามาเลเซีย ลาว เวียด(เวียดนาม) จีนกลาง( สิงคโปร์) บาฮาซาอินโดนีเซีย โดยมีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง เพราะเป็นภาษาที่คนในอาเซียนสื่อสารได้มากที่สุด และเวลาใช้ก็ใช้ด้วยสำเนียงของแต่ละชาติไม่จำเป็นต้องเป็นสำเนียงอเมริกันหรืออังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษก็มีหลายสำเนียงอยู่แล้ว

ราชบัณฑิตฯ ตระหนักถึงความสำคัญต่อการเรียนรู้ภาษาอาเซียนนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เตรียมพิมพ์หนังสือ “ภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน” ๑ หมื่นเล่ม

น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสถานกำลังจัดพิมพ์หนังสือสารานุกรมประเทศเพื่อนบ้าน มีเนื้อหาสำคัญ เช่น ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแต่ละประเทศ ฯลฯ ออกเผยแพร่ในเดือน พฤศจิกายน นี้

นอกจากภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนแล้ว คนไทยควรจะอนุรักษ์ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะภาษาถิ่นที่ใช้สื่อสารกันทั้งภาคกลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และใต้ ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทยยืนยันความบริสุทธิ์ของภาษา และเป็นแหล่งค้นคว้าที่มาของคำในภาษาได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นในอนาคตราชบัณฑิตฯ จะรวบรวมคำศัพท์ภาษาถิ่นของทุกภาคและจัดทำเป็นพจนานุกรมภาษาถิ่นต่อไป” น.ส.กนกวลี กล่าว

 

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก