ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คนอาเซียนย้ายถิ่นเข้าประเทศไทยมากอันดับ ๒

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

การย้ายถิ่นของคนอาเซียนพบว่ามีมาตั้งแต่อดีต ย้ายเข้ามาในประเทศขนาดเล็กและประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ สิงคโปร์มีคนอาเซียนย้ายเข้ามากเป็นอันดับหนึ่งตามมาด้วยประเทศไทย มาเลเซีย และบรูไน

รายงานวิชาการเรื่องบทบาทและความสำคัญของการย้ายถิ่นระหว่างประเทศที่มีต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในอาเซียน ของสถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าแต่เดิมในอาเซียนมีผู้ย้ายถิ่นเข้า-ออกมากในระดับหนึ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก เช่น สิงคโปร์ บรูไน มีผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศเข้ามาอาศัย คิดเป็น ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ประเทศที่ถือเป็นประเทศปลายทางมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มักมีผู้ย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยมากกว่าผู้ย้ายถิ่นออกไป เช่น ในช่วงปี ๒๕๔๘-๒๕๕๓ สิงคโปร์มีประชากรย้ายเข้ามาอาศัยมากเฉลี่ยปีละ ๑ แสนคน ประเทศไทยปีละ ๖ หมื่นคน และมาเลเซียปีละ ๒.๖ หมื่นคน

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่รัฐบาลสนับสนุนการส่งออกแรงงานไปทำงานในต่างประเทศอย่างชัดเจน จะมีจำนวนผู้ย้ายถิ่นออกมากกว่าย้ายถิ่นเข้า เช่น ฟิลิปปินส์ ย้ายถิ่นออกเฉลี่ยปีละ ๑.๘ แสนคน อินโดนีเซีย ๑.๔๖ แสนคน พม่า ๙ แสนคน และเวียดนาม ๔ แสนคน

ปัจจุบันอาเซียนมีกลุ่มผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศอยู่ ๕ กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ๑) กลุ่มแรงงานทักษะฝีมือสูง ๒) กลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ๓) กลุ่มคู่แต่งงานใหม่ ๔) กลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณจาการทำงานแล้ว และ ๕) กลุ่มที่เคลื่อนย้ายเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐ

รายงานระบุอีกว่า จากอัตราผู้ย้ายถิ่นในอดีต ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานหลังเปิดประชาคมอาเซียนไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แรงงานฝีมือบางวิชาชีพมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างกันมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ ทัศนคติและกฎระเบียบด้านวิชาชีพของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนยังแตกต่างกันมาก ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจในปลายปี ๒๕๕๘

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวระบุว่า มียอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้นถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ จำนวน ๑,๔๗๔,๐๐๐ คน เป็นชาวกัมพูชา ๖๗๑,๖๕๓ คน เมียนมา ๕๙๓,๐๐๗ คน และชาวลาว ๒๐๙,๓๔๐ คน พร้อมจำนวนผู้ติดตามทั้งสามชาติรวมกัน ๙๐,๐๑๕ คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังพิจารณาเรื่องการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่เป็นผู้ติดตามเหล่านี้ด้วย

จังหวัดที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ๓๐๐,๕๓๖ คน ชลบุรี ๑๔๑,๘๑๒ คน และสมุทรสาคร ๙๖,๗๐๓ คน ประเภทกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด ๓ อันดับได้แก่ กิจการก่อสร้าง ๔๗๓,๔๐๐ คน เกษตรและปศุสัตว์ ๒๑๓,๔๗๒ คน การให้บริการต่าง ๆ ๑๓๖,๘๗๑ คน

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก