ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นักวิชาการเสนอตำราประวัติศาสตร์ไทยสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

นักวิชาการประวัติศาสตร์เห็นพ้องกันว่าสิ่งที่ทำให้การรวมตัวของอาเซียนไม่แนบแน่น ส่วนหนึ่งมาจากประวัติศาสตร์ ที่มีอยู่ในตำราเรียน จึงควรปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความเข้าใจเพื่อนบ้านอย่างถูกต้อง

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และประธานที่ปรึกษาโครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อสำหรับผู้เรียนและผู้สอน และมีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งกันระหว่างเพื่อนบ้าน ดังนั้น การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเหมือนกรณีสหภาพยุโรป จำต้องชำระและปฏิรูปตำราเรียนประวัติศาสตร์ใหม่

ในขณะที่นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ โดยอธิบายว่าหากเรื่องราวของประวัติศาสตร์ถูกจำกัดอยู่แค่ในระบบการศึกษาเท่านั้น จะทำให้เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ไม่อยากจะเรียนรู้และทำความเข้าใจ หากนำมาทำรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตำราเรียน เช่น นำเรื่องราวประวัติศาสตร์มาสะท้อนผ่านภาพยนตร์หรือละครจะพบว่ามีคนจำนวนมากที่ชอบประวัติศาสตร์

นายสุเนตรยังมองว่าปัจจุบันคนไทยกำลังยืนอยู่บนทางแพร่งของประวัติศาสตร์ ประเทศไทยจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านทั้งเรื่องพลังงาน แรงงาน และการส่งออก จึงต้องมีการปรับแก้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชิงชาตินิยม แบบเดิม

“เวลานี้ไทยต้องการองค์ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านที่กว้างและลึกกว่านี้ เพราองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ไม่พอและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศเพื่อนบ้านอีกแล้ว” นายสุเนตรกล่าว

นายกิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า การรวมตัวของอาเซียนมีทั้งความหวังและความกังวลไปพร้อม ๆ กันว่า ทุกหน่วยงานตั้งงบประมาณเกี่ยวกับอาเซียนแต่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นแค่กระแสตามวาทกรรม

สำหรับนายมรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มีความเป็นห่วงเรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม จึงมีการจัดทำหนังสือชุด สมุดเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา (Known Our ASEAN Neighbors) ๑๕ เล่ม ซึ่งเป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านอาเซียนที่ผ่านการชำระแล้วเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายปฏิรูปประเทศไทยหลายด้านซึ่งรวมถึงปฏิรูปการศึกษา ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับการศึกษาพื้นฐานในปีการศึกษา ๒๕๕๗ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งของสาระวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กไทยมีความรู้ความเข้าใจความเป็นมาของชาติไทยมากขึ้น

 

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๕ กันยายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก