ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยปรับระบบพัฒนากำลังคนอุตสาหกรรมรถยนต์

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

รัฐและเอกชนผนึก ๔ ฝ่ายร่วมปรับแผนพัฒนาโครงสร้างแรงงานยานยนต์ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและปรับตัวรับคู่แข่งอินโดนีเซีย

นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการลงนามบนทึกความเข้าใจ ๔ ฝ่าย ประกอบด้วย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอช.) สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และสอท. เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์มากขึ้น เพราะตามเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ให้ได้ ๓.๕ ล้านคันในปี ๒๕๖๓ นั้น จะต้องใช้แรงงานถึง ๑ ล้านคน

“ การจะหาแรงงานให้ได้ขนาดนั้นเป็นเรื่องยาก จึงต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาผลิตภาพแรงงานให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘-๑๐ เพื่อลดความต้องการแรงงานในปีดังกล่าวให้เหลือเพียง ๘ แสนคน” นายถาวรกล่าว

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังต้องการให้ปรับโครงสร้างสัดส่วนแรงงานในอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับแรงงานกลุ่มอาชีวศึกษามากขึ้น โดยต้องการเพิ่มสัดส่วนแรงงานระดับอาชีวศึกษาจากร้อยละ ๓๐ เป็นร้อยละ ๕๐ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยให้สูงขึ้น ย้ายฐานการผลิตกลุ่มแรงงานที่ใช้ทักษะน้อยไปประเทศเพื่อนบ้านแทน

ระยะแรกจะมุ้งเน้นการพัฒนาครูอาชีวศึกษาในสถานประกอบการของเอกชนที่มีเทคโนโลยีระดับสูง จำนวน ๓ รุ่น รุ่นละ ๓๐ คน โดยจะจับคู่ระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชน ช่วยให้มีการปรับปรุงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน พัฒนานักศึกษาได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

สำหรับเป้าหมายการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนปีนี้ อยู่ที่ ๙ แสนล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗ -๘ จากปี ๒๕๕๖ แบ่งเป็นยานยนต์ ๖ แสนล้านบาท ชิ้นส่วนอีก ๓ แสนล้านบาท

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดี กพร. กล่าวว่า ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรม การร่วมกันพัฒนาแรงงานและปรับโครงสร้างจะช่วยให้แรงงานไทยมีความพร้อม และสามารถรับคู่แข่งอินโดนีเซียที่กำลังการผลิตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๕ กันยายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก