ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระยองเร่งสร้างแรงงานช่างเตรียมพร้อมรับเออีซี

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

จังหวัดระยอง เตรียมความพร้อมให้เด็กในพื้นที่ ปรับทิศทางการเรียนเน้นอาชีวศึกษา เสริมด้วยภาษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน สร้างแรงงานฝีมือระดับสูงตอบสนองความต้องด้านการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับแรงงานข้ามชาติได้เมื่อเข้าสู่เออีซี

ระยองเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย มีความต้องการแรงงานในระดับวิชาชีพเฉพาะทางจำนวนมาก กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งรวมตัวกันเป็น “สมาคมเพื่อนชุมชน” ได้จัดงานแนะแนวและพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชนและผู้ปกครองในพื้นที่ของจังหวัด

นายชลณัฐ ญาณารณพ นายกสมาคมเพื่อนชุมชนกล่าวว่า แรงงานที่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง แต่คนระยองที่เข้ามาทำงานในมาบตาพุดมีไม่ถึงร้อยละ ๑๐ เพราะที่ผ่านมาเด็กผู้ปกครองยังไม่รู้และเข้าใจ ส่วนใหญ่คิดว่าต้องเรียนระดับปริญญาตรีเท่านั้น ซึ่งมีการแข่งขันสูงในการหางาน ขณะที่การเรียนสายอาชีวศึกษามีโอกาสในการหางานและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า

นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคม ฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน คนในพื้นที่ระยองมีความเข้าใจและยอมรับในสายอาชีวะมากขึ้น เพราะมั่นใจว่ามีโอกาสได้งานทำในพื้นที่ได้แน่นอน อีกทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ให้การสนับสนุน มีการจัดให้สถาบันการศึกษาชั้นนำมาสอนความรู้พื้นฐานด้านปีโตรเคมีหรือวิศวกรรมให้กับเด็กสายอาชีวะ รวมทั้งให้โควต้ารับเด็กอาชีวะกลุ่มนี้เข้าทำงาน และรับเด็กเข้าฝึกงานในสถานประกอบการตามโครงการทวิภาคี ในอนาคตอาจขยายไปถึงการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาร่วมกัน

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ระบุว่าปัจจุบันมีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะร้อยละ ๓๖ และตั้งเป้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๙ ได้ดำเนินการในเชิงรุกโดยร่วมกับสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน แนะแนวต่อในระดับอาชีวศึกษา จัดทัศนศึกษาในสถานประกอบการอุตสาหกรรม การสอนสายช่างเพื่อเป็นวิชาเลือกให้เด็กรู้ความถนัดและความชอบของตัวเอง ให้รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จมาแนะแนวให้กับรุ่นน้อง กิจกรรมค่ายอาชีวะอาสา ฯลฯ

“สอศ ยังมีแนวคิดยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา โดยจะนำมาตรฐานต่างประเทศมาปรับใช้ โดยเบื้องต้นมี ๔ ประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำมาตรฐานการศึกษาอาชีวศึกษาร่วมกัน ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ คาดว่าใน ๓ ปี น่าจะเสร็จ รวมทั้งจะปฏิรูปการเรียนมาเน้นปฏิบัติมากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชน และล่าสุด สอศ ได้เสนอให้พิจารณาลดช่องว่างเงินเดือนระหว่างสายอาชีวะกับปริญญาตรีให้แคบลง ซึ่งจะบรรจุในแผนปี ๒๕๕๘” นายชัยพฤกษ์กล่าวในท้ายที่สุด

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก