ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ม.ราชมงคลอีสานตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาทุกวิทยาเขต

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

มทร.อีสานกำหนดแผนการทำงานพร้อมเข้าสู่อาเซียนทั้งด้านวิชาการและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่าจุดเด่นของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร คือได้เปรียบพื้นที่ มีภูมิทัศน์ที่ดี มีความเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมประสานชุมชนท้องถิ่นได้ เพราะการได้เปรียบในเชิงพื้นที่ที่เป็นสะพานไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเป็นไปโดยง่าย กอปรกับสามารถเป็นแหล่งเชื่อมโยงในกลุ่ม AEC ได้อย่างดีเยี่ยม วิทยาเขตสกลนครยังได้เปรียบในแง่ของการไปสานสัมพันธไมตรีกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้ง่าย เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลกันมากนัก สามารถไปเช้ากลับเย็นได้ นี่คือสิ่งที่วิทยาเขตสกลนครจะได้เปรียบในแง่ของการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยเพราะอยู่ติดกับกลุ่มประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขงมากกว่าที่อื่น

ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า มทร.อีสาน ยังมองเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยไปถึงเรื่องการทำให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green-University) คือการทำให้พื้นที่มหาวิทยาลัยมีสภาพของความเป็นเมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มพื้นที่ให้นักศึกษามาใช้ร่วมกัน ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและอากาศที่ดี สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กับบุคลากรของสถาบัน เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

วันนี้ มทร.อีสาน มีการเตรียมการบุคลากรในการเป็นบุคลากรของ AEC คือเรื่องภาษา ซึ่งภาษาที่ใช้คงไม่ใช่ภาษาไทยอย่างเดียวแต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลและภาษาท้องถิ่นในกลุ่ม AEC ที่อยู่ในกลุ่มลุ่มน้ำโขง ซึ่งเราต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับภาษาเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาลาว ภาษาพม่า หรือภาษาเวียดนามบ้าง ขณะนี้มหาวิทยาลัยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ภาษาและศูนย์อาเซียนศึกษาในแต่ละวิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกาฬสินธุ์ เปิดศูนย์เวียดนามศึกษา วิทยาเขตสุรินทร์ เปิดศูนย์เขมรศึกษา วิทยาเขตสกลนคร เปิดศูนย์ลาวศึกษา และวิทยาเขตขอนแก่น เปิดศูนย์พม่าศึกษา ซึ่งแต่ละวิทยาเขตจะเน้นการเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมและภาษาของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมจะเป็นสื่อในการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศในกลุ่ม AEC ที่ดีที่สุด เพราะศิลปวัฒนธรรมของอนุภาคลุ่มน้ำโขงไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก และนี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เราได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับบุคคลากร มทร.อีสาน ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ในปีการศึกษาใหม่นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จะเปิดภาคเรียนพร้อมกันทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ เพื่อสนองนโยบายการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก