ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อาชีวะผนึกอินโด-มาเลย์ร่วมพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่ยกระดับความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทยกับอินโดนีเซียและมาเลเซียให้ขยายไปถึงระดับปริญญาตรีอาชีวศึกษา จากปัจจุบันที่มีความร่วมมือกันด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรอาชีวศึกษาในระยะสั้น ๆ คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมภายใน ๒ เดือน

“เร็ว ๆ นี้ ทางอินโดนีเซียและมาเลเซียจะเดินทางมาร่วมกันพฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญยาตรีอาชีวะกับไทย เพื่อให้มีมาตรฐานออกมาในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งจะขยายระยะเวลาแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาให้นานขึ้น จาก ๑ ภาคการศึกษาในปัจจุบันเพิ่มเป็น ๑ ปี โดยอยู่ระหว่างการตกลงเรื่องเวลาเปิดเรียนและหน่วยกิตให้ตรงกันอยู่” นายชัยพฤกษ์กล่าว

นอกจากนี้ สอส จะปฏิรูปการเรียนการสอนอาชีวศึกษาให้เข้มข้นขึ้น โดยเน้นภาคปฏิบัติเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีแผนจัดทำระบบประกันคูณภาพเด็กที่เรียนจบอาชีวศึกษาผ่านการประเมินสมรรถภาพวิชาชีพของผู้เรียนในแต่ละสาขาก่อนจบ ซึ่งเริ่มกำหนดในหลักสูตรการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส) ปีการศึกษา ๑/๒๕๕๗ ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปี ๒๕๕๘ เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ต้องผ่านการประเมินคุณภาพก่อนเรียนจบ

นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อไปว่า สอศ ได้รับคำแนะนำจาก พล ร อ ณรงค์ พิพัฒนาสัย ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฝ่ายสังคมและจิตวิทยา เรื่องการให้เกียรตินิยมแก่ผู้เรียนอาชีวะ เพื่อจูงใจให้มีผู้มาเรียนสายอาชีพมากขึ้นและทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในสายอาชีพที่เรียนมา นำมาดำเนินการ โดยอาจใช้คำว่าเหรียญทองและเหรียญเงินแทนเกียรตินิยมเช่นระดับปริญญาตรี ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติไว้ ๓ ประการในการพิจารณาให้ผู้เรียนได้เหรียญทองหรือเหรียญเงิน คือ ผลการเรียนรวมต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนด เกรดเฉลี่ยเฉพาะวิชาชีพตามเกณฑ์ที่กำหนด และระเบียบวินัยต่อความประพฤติของผู้เรียน

ทั้งนี้ คาดว่าคุณสมบัติทั้ง ๓ ประการนี้จะเป็นเกณฑ์พื้นฐานในการคัดกรองและรับรองคุณภาพของผู้เรียนให้กับสถานประกอบการในการพิจารณารับบรรจุเข้าเป็นพนักงานด้วย

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก