ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ภาคธุรกิจไทยเผชิญแนวโน้มใหม่ด้านทรัพยากรมนุษย์รับอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

นายเลิศชัย สุธรรมานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สขาวิชากลยุทธ์การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และองค์การ สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง “เทรนด์เอชอาร์หลังปี ๒๕๕๗” เมื่อเร็ว ๆนี้ มองว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังแย่งชิงคนเก่งที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน บริษัทต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น สำหรับงานด้านทรัพยากรมนุษย์กำลังเกิดแนวโน้มที่น่าสนใจที่สำคัญ ๘ เรื่อง ได้แก่ 

๑) การพัฒนาองค์กรที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในนโยบายขององค์กร เช่น การพัฒนานวัตกรรม 

๒) การเรียนรู้และการพัฒนาที่มุ่งสร้างให้พนักงานมีความเป็นผู้นำ โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตามสูตร ๗๐-๒๐-๑๐ เน้นการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการมากที่สุดร้อยละ ๗๐ เช่น การลงมือทำ รองลงมาเป็นการเรียนรู้จากผู้อื่นร้อยละ ๒๐ เช่น โค้ชชิ่ง ที่ปรึกษา และสุดท้ายร้อยละ ๑๐ เรียนรู้จากห้องเรียน รวมถึงการอบรม 

๓) การวางแผนและดึงดูดกำลังคน โดยการค้นหาแรงงานทักษะว่าอยู่ตรงไหนจากหลากหลายช่องทาง การแนะนำต่อกันมาซึ่งได้ผลมากที่สุด รวมทั้งสื่อสังคมและเว็บไซต์ที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้ โฆษณาทางหนังสือพิมพ์อยู่ในอันดับสุดท้าย รวมทั้งไปหยิบยืมคนเก่งมาใช้ในยามที่จำเป็นหากไม่สามารถจ้างคนเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กร 

๔) การผสมผสานกระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่หลากหลายกับธุรกิจ 

๕) การบริหารจัดการผลงานที่ต้องเชื่อมกับกลยุทธของบริษัท 

๖) การสร้างความผูกพันต่อองค์กรที่ต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร เช่น การสร้างรายได้ การสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า 

๗) การจัดโครงสร้างองค์กรด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะขยายขึ้น อาทิ การตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center) หรือมหาวิทยาลัยองค์กร (Corporate University) 

๘) กลยุทธทรัพยากรมนุษย์แบบกรีนที่มุ่งดูแลสังคมโดยรวม เช่น บริษัทโตโยต้าที่พัฒนาหลักสูตรช่างให้กับบริษัทจัดจำหน่าย (dealer) และผู้จัดหาสินค้า (Supplier)

นายวิเชศ คำบุญรัตน์ หัวหน้าสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการแนะนำว่า ทักษะที่ต้องพัฒนารองรับแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่ ๑) ความสามารถในการทำความเข้าใจข้อมูลในระดับสูง ๒) ความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ๓) ทักษะการคิดนอกกรอบและคิดเชิงปรับตัว ๔) ความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง ๕) ทักษะความคิดเชิงคอมพิวเตอร์ ๖) ความเข้าใจสื่อใหม่ ๗) ความเข้าใจแนวคิดจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งแนวลึกและกว้าง ๘) ความสามารถในการนำเสนอและออกแบบงานให้น่าสนใจ ๙) การใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่องาน ๑๐) ความสามารถในการทำงานร่วมกัน

จากการสำรวจความพร้อมของบริษัทไทย ๑๖๕ แห่งก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พบว่าจำนวนมากมีความพร้อมระดับกลาง แต่มีคะแนนต่ำในเรื่องการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นสากล ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับอาเซียน ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องคนทั้งระบบ โดยศึกษาเรื่องการทำงานข้ามชาติ ทำความเข้าใจกับธุรกิจข้ามชาติ เพื่อบริหารคนให้ตอบสนองได้ รวมทั้งพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่ ทั้งเรื่องภาษารวมทั้งค่านิยมกล้าที่จะย้ายถิ่น ซึ่งสถาบันการศึกษาต้องส่งเสริมให้นักศึกษาออกไปฝึกงานในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก