ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คณะนักวิจัยไทยเสนอสร้าง อี – มิวเซียมทวายเป็นแหล่งเรียนรู้ไทย-พม่า

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

นักวิจัยเสนอทำ อี – มิวเซียม ให้ทวาย เป็นแหล่งข้อมูลวัฒนธรรม เชื่อมสัมพันธ์ไทย – พม่า

พันเอกสุรัตน์ เลิศล้ำ หัวหน้าโครงการการศึกษาความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกฉียงใต้ เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยไทยได้เสนอจัดทำพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของพม่า เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมแถบพื้นที่ทวาย โดยเชื่อมโยงข้อมูลตำแหน่งวัตถุโบราณ ประวัติความเป็นมา ช่วงเวลาที่มี ช่วงเวลาที่ค้นพบ ตลอดจนความหมายของวัตถุนั้น ๆ

“ทวายเป็นเมืองที่ทั้งไทยและพม่ามีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยา ทวายอยู่ใต้การปกครองของไทยและพม่าผลัดกันไปมา การมีอี-มิวเซียมจะช่วยให้เห็นความเป็นมาของกันและกัน เกิดความเข้าใจและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันได้” พ.อ.สุรัตน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน คณะนักวิจัยของโครงการได้ยื่นขอจัดตั้งศูนย์วิจัยทวายขึ้นภายใน พิพิธภัณฑ์ที่พม่ากำลังก่อสร้างในทวาย เพื่อใช้เป็นศูนย์ดำเนินการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของทวาย ตลอดจนเป็นฐานให้เยาวชนพม่าและเยาวชนไทยได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต

พ.อ.สุรัตน์ กล่าวอีกว่า ทวายยังเหมาะจะพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม เนื่องจากทวายยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบท้องถิ่น ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก นอกจากนี้ทวายยังแตกต่างจากพื้นที่แถบอื่นของพม่าอย่างชัดเจน ชาวทวายเรียกตัวเองว่าชาวพะยู มีภาษาและอาหารเป็นเอกลักษณ์ จึงเป็นสถานที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว

เรื่องที่คณะนักวิจัยเข้าไปเก็บข้อมูลในทวาย แบ่งออกเป็น ๒ เรื่องหลัก ได้แก่ ๑) โลหกรรม ทวายมีแร่ธาตุต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น ตะกั่ว เหล็ก ทอง ซึ่งคณะจะศึกษาอุตสาหกรรมเหล่านี้ในอดีตเปรียบเทียบกับปัจจุบัน และ ๒) เส้นทางต่าง ๆ ของทวาย ทั้งในด้านการรบ การค้า เปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน

ทั้งนี้คณะวิจัยยังได้ช่วยสอนการใช้เทคโนโลยีการดำเนินการทางโบราณคดีให้แก่ชาวทวาย เพื่อให้สามารถศึกษาพื้นที่เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก