ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

โรงเรียนนานาชาติในไทยเพิ่มขึ้นรองรับการเข้าสู่เออีซี

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

สช. คาดว่าปีนี้เอกชนยื่นขอตั้งโรงเรียนนานาชาติไม่ต่ำกว่า ๑๐ แห่ง เพิ่มขึ้น ๑๐๐ % กระจายในทุกภาค เน้นหลักสูตร ๓ ภาษา

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่า ในปี ๒๕๕๗ คาดว่าเอกชนจะมายื่นขอจัดตั้งโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติในไทยไม่ต่ำกว่า ๑๐ ราย โดยมีมูลค่าเงินลงทุนอย่างน้อยแห่งละ ๒๐ ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ขอจัดตั้งเพียง ๔ ราย

ทั้งนี้เฉพาะช่วง ๓ เดือนแรกของปีนี้ มีผู้ยื่นขอจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติแล้ว ๗ แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ๑๔๑ แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นโรงเรียนระดับอนุบาลในกรุงเทพฯ ๒ แห่ง ระดับประถมและมัธยมศึกษากระจายในหลายภูมิภาค คือ จังหวัดชุมพร ๑ แห่ง อุดรธานี ๑ แห่ง สุราษฎร์ธานี ๑ แห่ง สมุทรปราการ ๑ แห่งและพิษณุโลก ๑ แห่ง โรงเรียนนานาชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ เน้นการเรียนการสอนแบบ ๓ ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ และจีน รวมทั้งเน้นทักษะกระบวนการคิดให้แก่ผู้เรียนมากขึ้น

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติเติบโตมาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการก้าวสู่ความเป็นสากลที่ภาษามีความจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนสนใจเรียนในหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘ จะเกิดการเคลื่อน ย้ายแรงงานเสรี รวมทั้งนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งต้องการสิ่งรองรับในด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองการเข้ามาทำงานและการใช้ชีวิตในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข้อมูลจาก ASEAN Business Outlook Survey ๒๐๑๔ ของหอการค้าสหรัฐระบุว่า จากผลสำรวจตัวแทนบริษัทอเมริกันทั่วอาเซียน ๔๗๕ บริษัท ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ ๓๓ กังวลว่าอาเซียนจะเกิดปัญหาไม่สามารถรองรับนักเรียนต่างชาติเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ใน ๑-๓ ปีนี้ โดยเฉพาะผู้ตอบแบบสอบถามในลาวร้อยละ ๔๗ ในพม่าร้อยละ ๔๓ และในสิงคโปร์ร้อยละ ๔๑ กังวลว่าจะเกิดปัญหาในประเทศที่เขาไปลงทุนแน่ๆ ในทางตรงกันข้าม ๓ ประเทศที่คนกังวลน้อยสุดได้แก่บรูไน ร้อยละ ๙ ไทยร้อยละ ๒๐ และกัมพูชาร้อยละ ๒๑

นอกจากนี้ สช. ยังได้ปรับหลักสูตรในโรงเรียนสังกัดให้เข้มข้นขึ้น โดยเน้นเรื่องทักษะภาษามากขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้เรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ ๑-๒ ชั่วโมง เป็นไม่ต่ำกว่า ๔ ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเด็กไทยให้ออกไปแข่งขันในระดับสากล และยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น

 

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก