ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นิสิตจุฬาฯ เรียนภาษาเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

วันที่ลงข่าว: 29/01/15

ภาษาเพื่อนบ้านอาเซียนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาทางการของอาเซียน นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลากหลายคณะวิชาหันมาเรียนรู้ภาษาเวียดนามมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษาเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปลายปี ๒๕๕๘

รศ. ดร. มนธิรา ราโท อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า กระแสเออีซีเป็นหนึ่งปัจจัยที่เป็นแรงขับให้เด็กไทยหันมาให้ความสำคัญกับภาษาอาเซียนมากขึ้น

“ตอนนี้มีนิสิตจำนวนมากหันมาเรียนภาษาเวียดนามเป็นวิชาเลือกเพิ่มขึ้นทุกปี มาจากหลายคณะทั้ง วิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จากเดิมมีเพียงนิสิตอักษรศาสตร์ไม่กี่คนเท่านั้น”

รศ. ดร. มนธิรา เล่าว่า จากประสบการณ์การสอนมากกว่า ๑๐ ปี ภาษาเวียดนามไม่ได้ยากนัก ตัวอักษรที่ใช้ในภาษาเวียดนามเป็นอักษรโรมัน โครงสร้างประโยคคล้ายกับภาษาไทย มีประธาน กิริยา กรรม และมีคำวิเศษณ์ขยายความในบางประโยค สิ่งที่ท้าทายคือ การออกเสียงแบบมาตรฐาน ภาษาที่ชาวฮานอยและคนในภาคเหนือของประเทศเวียดนามพูดที่มีเสียงวรณยุกต์ถึง ๖ โทนเสียง ขณะที่ไทยมี ๕ เสียง นอกจากนี้การสะสมคำศัพท์ เพราะศัพท์บางคำที่ใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันอาจเป็นคำศัพท์แสลงหรือศัพท์เฉพาะ จึงต้องมีประสบการณ์ในการสื่อสารกับคนเวียดนามที่เป็นเจ้าของภาษา เพื่อให้ได้ทั้งคำศัพท์และสำเนียงในการออกเสียงได้อย่างถูกต้อง

ขณะที่คนไทยสนใจเรียนภาษาเวียดนามมากขึ้น ชาวเวียดนามก็สนใจเรียนภาษาไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยมีการเปิดสอนอย่างจริงจังในสถาบันการศึกษาในเวียดนาม รวมทั้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจัดส่งครูไปสอนภาษาไทยให้คนเวียดนาม เนื่องจากชาวเวียดนามมองว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน การรู้ภาษาไทยจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานทำกับธุรกิจไทย นอกจากนี้แต่ละปียังมีคนไทยจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวและทำงานในเวียดนาม จึงมีการส่งเสริมให้ชาวเวียดนามเรียนภาษาไทยเพิ่มเติม

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก