ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อุดมศึกษาไทยสร้างคนรอบรู้ ชูคุณธรรม ก่อนสู่อาเซียน

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

อุดมศึกษาไทยเตรียมเข้าอาเซียน สร้างคนรับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมทั้งของไทยและอาเซียน เน้นปลูกฝังทัศนคติ คุณธรรม นศ.ให้รังเกียจคอร์รัปชัน เปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น

คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จัดประชุมวิชาการประจำปีสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์เมื่อเร็ว ๆนี้ เรื่อง "อุดมศึกษาไทยสู่อาเซียน" โดยมี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดี มม. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และบรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า อุดมศึกษาถือเป็นเสาหลักที่มีส่วนสำคัญในการสร้างทุนมนุษย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอุดมศึกษาไทยทั้งรัฐและเอกชนต้องมีร่วมผลิตทุนมนุษย์ที่ไม่ใช่ตอบสนองเฉพาะภายในประเทศ แต่ต้องตอบสนองความต้องการในอาเซียนด้วย ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องเตรียมคน ที่ต้องการเห็นคน ๖๐๐ ล้านคนที่มีความแตกต่างกันตามเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การดำรงชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ ด้วยความเอื้ออาทร เกื้อกูลกัน นำมาสู่ความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง และความอยู่ดีกินดีของประชากร

สำหรับในการเตรียมพร้อมนิสิตนักศึกษาต้องไม่ใช่เฉพาะเรื่องของวิชาชีพ วิชาการเท่านั้น แต่ต้องมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และการทำงานร่วมกัน รวมถึงต้องมีการปลูกฝังเรื่องของคุณธรรม ซึ่งขณะนี้ มม.และทุกสถาบันอุดมศึกษาพยายามปลูกฝังความมั่นคงในคุณธรรม ต้องรังเกียจคอร์รัปชัน รับไม่ได้กับการฉ้อราษฎร์บังหลวง ต้องการให้บัณฑิตออกไปไม่ใช่เป็นเพียงนักวิชาชีพ วิชาการ แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นสังคมไทยที่ดี

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า อุดมศึกษาในอาเซียนไม่มีปัญหามากนัก เพราะมหาวิทยาลัยทุกแห่งทำเรื่องอาเซียนค่อนข้างมาก อุดมศึกษาเป็นหัวเรือใหญ่ของกระบวนการศึกษาทั้งประเทศ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องอาเซียน ซึ่งมี ๔ ประเด็นหลักๆ ที่สถาบันการศึกษาต้องดำเนินการ ได้แก่ (๑) เรื่องภาษาอังกฤษและภาษาต่างชาติ (๒) สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องอาเซียน (๓) วัฒนธรรมของคนในอาเซียน และ (๔) คุณภาพอุดมศึกษาไทย อย่างไรก็ตาม อุดมศึกษาไทยมีศักยภาพที่ดีพอ และการเปิดอาเซียนมีการไหลเวียนความรู้ค่อนข้างมาก ฉะนั้นอุดมศึกษาไทยต้องแสดงความสามารถให้สังคมโลกได้เห็นถึงศักยภาพ ความพร้อมของอุดมศึกษาไทย

รศ. ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในที่ประชุมว่า ไทยต้องเตรียมสร้างคนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติ ๗ ด้านที่จะเกิดขึ้นกับประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ได้แก่ (๑) ปฏิวัติร้านโชห่วยที่จะเกิดขึ้นมากมายซึ่งสินค้าไทยมีโอกาสมาก (๒) ปฏิวัติมอเตอร์ไซค์ ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินและขี่จักรยานมาใช้จักรยานยนต์ (๓) ปฏิวัติเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะพัดลม โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น ที่จะขายดี (๔) ปฏิวัติสินค้าอุปโภคบริโภค (๕) ปฏิวัติภาคการเกษตร (๖) ปฏิวัติอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และ (๗) ปฏิวัติการก่อสร้าง เพราะชุมชนเมืองจะเกิดมากขึ้น

 

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก