ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สูตรครูยุคเสรีสอนคนอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 28/01/15
การศึกษาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเดินหน้าอย่างไร้พรมแดนไปสู่บริบทสากลของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เกิดคำถามว่า บุคลากรครู ในฐานะผู้ที่จะต้องให้บริการและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงโดยตรงจะต้องทำอะไรบ้าง
รศ. ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานสาขาวิชาบริหารการศึกษา ภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่าครูต้องปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่มากขึ้น จะต้องเตรียมพร้อมต่อการเปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ และปรับปรุงเนื้อหาแต่ละวิชาให้สอดรับกับทั้งคนไทยและคนอาเซียน ในทุกมิติ เช่น มิติเศรษฐกิจ มิติการทำงาน
ทั้งนี้ รศ ดร.พฤทธ์ เชื่อว่า ชาวพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต่างต้องการมาทำงานในไทย คนส่วนหนึ่งจึงอาจตัดสินใจเดินทางมาเรียนที่ไทย เพราะคิดว่าถ้าเรียนในไทยแล้วจะหางานทำในไทยได้มากกว่า ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คณะครุศาสตร์ จุฬา ฯ มีชาวลาวและชาวกัมพูชา เข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจำนวนหนึ่งเกือบทุกปีตั้งแต่ยังไม่เปิดประชาคมอาเซียน ทั้งที่ในห้องเรียนสอนเป็นภาษาไทย ดังนั้น ครูไทยต้องปรับตัวกับนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้วย
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงสมรรถนะของครูอาชีวศึกษายุคใหม่ว่า ต้องการครูอาชีวะที่ไม่ใช่แต่ครูที่สอนเก่งหรือมีใบประกอบวิชาชีพครู แต่ต้องเป็นครูที่มีประสบการณ์จริงในสถานประกอบการ
‘ครูอาชีวศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาทักษะเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง สิงคโปร์และจีนต่างมีข้อบังคับให้แต่ละสถานศึกษาต้องมีทั้งครูประจำและครูจากสถานประกอบการในสัดส่วน ๘๐ ต่อ ๒๐ และทุก ๓ ปี หรือ ๕ ปี ครูจะต้องพักการสอน ๖ เดือน เพื่อไปประจำยังสถานประกอบการแทน ในประเทศไทยเริ่มมีการจัดหลักสูตรทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ แต่ยังไม่ได้มีสัดส่วนครูชัดเจน” นายวณิชย์กล่าว
นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่า ในประเทศอื่น ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของครูอาชีวศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยในสถานประกอบการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามากกว่าใบประกอบวิชาชีพครู
“อาจารย์มหาวิทยาลัยควรต้องมีประสบการณ์ในสถานประกอบการบ้างเช่นเดียวกันเพราะยังต้องทำงานวิจัยและเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์กรต่าง ๆ จึงต้องมีประสบการณ์และความรู้รอบด้านพร้อมสู่อาเซียน”
นางสาวอาภรณ์ ยังเน้นเรื่องภาษาอังกฤษของอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเข้มข้น ไม่ใช่แค่ระดับ “สื่อสาร” แต่ต้องระดับที่สามารถ “นำเสนอ” ผลงานวิจัยบนเวทีอาเซียนได้
สมรรถนะครูยุคเสรีสอนอาเซียน
ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก