ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงศึกษาพัฒนาโรงเรียนทวิ-พหุภาษารับมือชุมชนคนหลากชาติ

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

กระทรวงศึกษาธิการเตรียมตัวรับมือเด็กรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ตลอดจนจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเข้ามาอยู่อาศัย พร้อมกับนำพาภาษาถิ่นของตัวเองเข้ามา เพื่อให้ได้รับการศึกษาและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างเหมาะสม

นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในไทยหลายพื้นที่ใช้ภาษาถิ่นที่ติดมากับครอบครัวหรือชุมชนในพื้นที่ เป็นภาษาหลักหรือภาษาแม่ แล้วใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) จึงต้องพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษาถิ่นเหล่านี้หรือโรงเรียนพหุภาษาตามความเหมาะสม

“จากการสำรวจของ สพฐ.ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน ๑,๑๖๔ โรงเรียน พบว่า ปัจจุบันมีนักเรียนที่ใช้ภาษาถิ่นมากถึง ๓๙ ภาษา รวมกว่า ๑.๙ แสนคน คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนอาเซียน ใช้ภาษาที่มาจากเพื่อนบ้าน หากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็อาจมีคนกลุ่มนี้มากขึ้น ก็ต้องให้เขารู้ทั้งภาษาไทยและภาษาถิ่นเดิม ถ้าเขาได้รู้ภาษาอื่นเพิ่มขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ในการไปต่อยอดสู่ประชาคมอาเซียน”

ปัจจุบัน สพฐ. ได้พัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนใช้ภาษาถิ่นมากกว่าร้อยละ ๕๐ เป็นโรงเรียนนำร่อง ทวิภาษา ๑๑ แห่ง ใน ๔ พื้นที่ ประกอบด้วย ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ภาคตะวันตก เช่น กาญจนบุรี ภาคตะวันออกพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษากัมพูชาและเวียดนาม ภาคใต้พื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษามลายู ทั้งนี้ภายในปี ๒๕๕๗ นี้ จะขยายโรงเรียนลักษณะนี้เป็น ๒๙ แห่ง และในปี ๒๕๖๐ จะขยายเป็น ๑,๖๐๐ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเดิม

น.ส.ไพรวัลย์ พิทักษ์สาลี ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า การดำเนินการโรงเรียนทวิภาษา พบปัญหา ๔ ด้านคือ ๑) ด้านบุคลากร ครูจำนวนหนึ่งไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ เมื่อสอนไประยะหนึ่งจึงต้องการย้าย ขณะที่ครูอัตราจ้างท้องถิ่นมีรายได้น้อย ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ๒) ผู้ปกครองและชุมชน ที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องเรียนแบบทวิภาษา เพราะพูดภาษาถิ่นกับบุตรหลานอยู่แล้ว ๓) การบริหารและงบประมาณ ยังขาดความต่อเนื่อง และ ๔) สังคมและวัฒนธรรม ยังขาดความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม เพื่อให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลาย

สพฐ. กำหนดมาตรการที่ต้องดำเนินการจัดการและแก้ไข ๖ มาตรการ คือ 

๑) ส่งเสริมการสอนภาษาท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นตามบริบทพื้นที่และกลุ่มชาติพันธ์

๒) ให้ใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นสื่อการเรียนการสอนร่วมกับภาษาไทย

๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยี

๔) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ให้จัดหลักสูตรผลิตครูและฝึกอบรมครู

๕) ให้มีครูทวิภาษา - พหุภาษาสอนตามแนวชายแดนและพื้นที่พิเศษที่ผู้พูดภาษาอื่นเป็นภาษาแม่ 

๖) จัดตั้งศูนย์กลางประสานงานกำกับและติดตามการดำเนินงาน

 

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก