ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มหาวิทยาลัยสงขลามุ่งสู่การเป็น ฮับอาเซียนตอนล่าง

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

ระยะเวลาเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปลายปี ๒๕๕๘ รวมทั้งที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนตอนล่าง

รศ. ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า วิสัยทัศน์ของ มอ. คือต้องการผลิตบัณฑิตให้พร้อม มีทักษะการสื่อสารที่จำเป็น เข้าใจวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข รวมทั้งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับสากล ติด ๑ ใน ๑๐ มหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน และเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนตอนล่าง

อธิการบดี มอ อธิบายว่า “สิ่งที่ต้องทำเริ่มจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็น Active Learning คือสอนให้น้อยแต่เรียนให้มาก บัณฑิตที่จบจาก มอ.จะต้องคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น ด้วยการฝึกตั้งคำถาม วิเคราะห์โจทก์ปัญหาต่าง ๆ เพื่อต่อยอดความคิด”

มอ.ได้รับงบประมาณสำหรับปี ๒๕๕๗ ด้านเตรียมพร้อมเข้าสู่อาเซียนกว่า ๑๙๐ ล้านบาท เพื่อดำเนินงานโครงการหลัก ๖ โครงการได้แก่

๑. โครงการขับเคลื่อน มอ.สู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนตอนล่าง เนื่องจาก ๔ ประเทศตอนล่างของอาเซียนมีประชากรรวมกันกว่า ๓๐๐ ล้านคน จึงวางแผนดึงดูดให้คนอาเซียนเดินทางมาเรียนที่ มอ เช่น ให้ทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ระดับละ ๕๐ ทุน การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระยะสั้น ๑ ภาคเรียน นอกจากนี้ มอ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาหลักสูตรร่วมสาขาเทคโนโลยีอาหารกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมาเลเซีย โดยเรียนที่ไทย ๑ ปีและมาเลเซีย ๑ ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดสอนได้ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ ปัจจุบัน มอ.มีนักศึกษาทั้งสิ้น ๔ หมื่นคน เป็นนักศึกษาต่างชาติประมาณ ๔๐๐ คน เป็นชาวอินโดนีเซียมากที่สุด โดยนิยมเรียนสาขาพยาบาลศาสตร์ อุตสาหกรรมการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์ การบริหารจัดการ และศึกษาศาสตร์

๒. โครงการศูนย์กลางการบริการสุขภาพ ปัจจุบัน มอ มีสถานพยาบาลในสังกัดอยู่ ๓ แห่ง เฉพาะโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีผู้ป่วยนอกราวปีละ ๑ ล้านคน มีชาวมาเลเซียเข้ามารับบริการจำนวนมาก มอ. จึงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีคุณภาพ ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมือเพื่อรองรับคนไข้ที่จะเพิ่มขึ้น

๓. โครงการพัฒนานักศึกษา บุคลากร และประชาชน จัดฝึกอบรมสัมมนาฟรี ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาเซียน

๔. โครงการพัฒนาครู ระดับโรงเรียน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประขาคมอาเซียนโดยตรง

๕. โครงการเตรียมความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วิทยาเขตปัตตานี

๖. โครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่บุคลากรและนักศึกษา ซื้อพาสเวิร์ดโปรแกรมเรียนภาอังกฤษด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์มาให้นักศึกษากว่า ๓ หมื่นพาสเวิร์ด เพื่อใช้พัฒนาทักษะ การฟัง การพูด และไวยากรณ์ “เราจะประเมินตัวเองเรื่อยๆ และวางยุทธศาสตร์ใหม่ทุก ๕ ปี แต่เรื่องศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนตอนล่างนั้น เชื่อว่า ๒-๓ ปีก็น่าจะเห็นทิศทาง” อธิการบดี มอ.กล่าว

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก