ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยเตรียมเพิ่มการผลิตบุคลากรซ่อมอากาศยานรับเออีซี

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

ไทยเร่งผลิตช่างซ่อมอากาศยานรองรับการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของอาเซียน

นายบัณฑิต ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มองถึงเป้าหมายนี้ว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับประเทศอาเซียนถึง ๔ ประเทศ และมีจุดแข็งจากากรเติบโตของธุรกิจการบินอย่างโดดเด่นในภูมิภาค สอดคล้องกับตัวเลขนำเข้าและส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นายบัณฑิตกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังขาดความพร้อมบุคลากรด้านการบิน และด้านซ่อมอากาศยาน ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้เพราะต้องใช้เวลาในการที่จะพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง

ปัจจุบันไทยมีโรงเรียนผลิตช่างซ่อมบำรุงอากาศยานของโรงเรียนช่างกลขนส่งทหารบก(ขสทบ) เพียงแห่งเดียว ผลิตบุคลากรระดับ ปวช. และ ปวส. รุ่นแรกออกมาได้เพียง ๗๒ คน ถือได้ว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการที่มีอยู่ และเพื่อรองรับเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ขณะนี้ สถาบันเทคโนโลยีช่างกลปทุมวันและมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ได้ยื่นขอเปิดสอนสาขาวิศวกรรมซ่อมอากาศยานเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มสอนในปีการศึกษา ๒๕๕๗ คาดว่าจะสามารถผลิตบุคลากรได้สถาบันละไม่ต่ำกว่า ๓๐ คนต่อปี สาเหตุที่ไทยผลิตบุคลากรออกมาได้น้อยเพราะเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงมีราคาค่อนข้างสูง รวมทั้งประเทศไทยยังมีสถานที่ฝึกงานด้านนี้น้อย

ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๕๕ มีมูลค่าประมาณ ๑.๙๑ หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ ๒๐ และเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะยิ่งทำให้ตลาดซ่อมบำรุงอากาศยานโดยเฉพาะของกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก