ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงศึกษาเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนครูภาษา

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

นางอุษณีย์ วัฒนพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ชี้แจงว่า ปัญหาสำคัญของการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของไทยเวลานี้ ยังคงเป็นเรื่องเดิม ๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังหาทางแก้ไขอยู่ คือ ปัญหาการขาดแคลนครูต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษา เนื่องจากติดเรื่องข้อระเบียบบังคับที่ว่าครูต่างชาติจะต้องมีใบอนุญาตการทำงานและวีซ่าเพื่อการทำงาน และต้องทำเรื่องขอต่อวีซ่าใหม่ทุก ๒ ปี

สพฐ.ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาครูภาษาขาดแคลน เช่น จัดการอบรมเพื่อพัฒนาครูภาษาชาวไทย ส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนระบบสองภาษาในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มชั่วโมงการเรียนภาษาอังกฤษแก่เด็ก

นอกจากนี้จะนำครูเจ้าของภาษาเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับบริติชเคาน์ซิล ที่ส่งครูอาสาภาษาอังกฤษให้ปีละ ๑๕๐ คนเท่านั้น และการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ขึ้นมาโดยได้รับงบประมาณเป็นทุนการศึกษาด้านการสอนภาษต่างประเทศที่สอง เพื่อผลิตครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลนเฉลี่ยปีละ ๑๕๐ คน ซึ่งรุ่นแรกจะเข้าระบบทันการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘

สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๗ สพฐ เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ๕ ประเทศเจ้าของภาษา ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และแคนาดา เพื่อให้ส่งครูอาสาช่วยสอนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยประเทศละ ๑๐๐ คน ซึ่งอาจจะเป็นบุคลากรครูที่เกษียณแล้ว หรือครูที่เพิ่งจบการศึกษา

ปัจจุบันการศึกษาระดับพื้นฐานมีครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นครูเจ้าของภาและครูไทยรวมทั้งหมด ๘.๙๙ หมื่นคน ขณะที่มีจำนวนผู้เรียนมากถึง ๑.๓๔ ล้านคน เช่นเดียวกับภาษาเพื่อนบ้านอาเซียน ทั้งพม่า เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย มาเลเซีย (มลายู) โดยเฉพาะภาษามลายูที่มีเด็กสนใจเรียนมากถึง ๓,๑๐๗ คน

“กระแสความต้องการเรียนภาษาเพื่อนบ้านอาเซียน ของเด็กไทยมีเพิ่มมากขึ้น และขยายตัวรวดเร็ว โดยเฉพาะในโรงเรียนที่อยู่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนครูสอนภาษาที่มีคุณภาพ” นางอุษณีย์กล่าว

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก