ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยจัดงบประมาณเตรียมพร้อมรับอาเซียนในด้านการศึกษามากที่สุด

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

รัฐบาลได้บรรจุเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไว้ในแผนนโยบายเร่งด่วนประจำปีตั้งแต่งบประมาณปี ๒๕๕๖ ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสิ้นจำนวน ๓,๕๕๗.๑๓ ล้านบาทโดยกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ ๑,๖๑๐ ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการศึกษาของไทยให้พร้อมรับเออีซี สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับการจัดสรรมากที่สุด ๙๔๘.๙๑ ล้านบาท รองลงไปคือสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับ ๑๐๐ ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับ ๗๖.๖ ล้านบาท

สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๗ กระทรวงศึกษาธิการได้รับวงเงินสูงถึง ๑,๒๗๕.๖๕ ล้านบาท โดย สพฐ.ได้รับสูงที่สุด คือ ๑,๑๕๖.๐๔ ล้านบาท เนื่องจากต้องดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดรัฐทั้งหมด สกอ.รองลงมาจำนวน ๘๗.๐๕ ล้านบาท ในการทำโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และกระตุ้นให้เด็กหันมาสนใจเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการแรงงานสายอาชีพของอาเซียน รวมทั้งโครงการร่วมมือกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (ซีแอลเอ็มวี) ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โดยเฉพาะโครงการเชื่อมโยงความร่วมมืออาชีวะแบบไตรภาคีระหว่างไทย-ลาวและเวียดนาม โดยมีเป้าหมายผลิตกำลังคนอาชีวะป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานของทั้งสามประเทศให้ตรงตามความต้องการ

งบประมาณที่เหลือ ๒๔.๕๕ ล้านบาท ให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลสองหน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) และคณะกรรมการการศึกษานอกโรงเรียนและตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งจะนำไปสร้างต้นแบบศูนย์อาเซียนศึกษา เพื่อใช้สร้างความตระหนักรู้ การเตรียมพร้อมเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนแบบครบวงจร สำหรับ สกอ. ได้รับ ๘ ล้านบาทส่วนใหญ่ใช้เผยแพร่ความรู้เรื่องอาเซียน จัดอบรมและแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการฝึกงานในต่างประเทศ

นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่า ภาคการศึกษาไทยควรพัฒนา ๓ ด้าน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ๑. ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้กว้างและลึกขึ้น เพื่อให้เด็กไทยมีคุณภาพพร้อมรับการแข่งขันในอนาคต ๒. การศึกษาสายวิชาชีพเพราะไทยต้องพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้และทักษะมากขึ้นเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และ ๓. พัฒนาด้านภาษาที่มีความจำเป็นมากขึ้นควบคู่กับความเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๘ มกราคม ๒๕๕๗
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก