ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สร้างมาตรฐานบุคลากรท่องเที่ยวไทยรับเออีซี

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

ธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า กระทรวงอยู่ระหว่างการเร่งรัดพัฒนาหลักสูตรการท่องเที่ยวอาเซียนใน ๒ สาขา ๖ แผนก ๓๒ ตำแหน่งงาน ได้แก่ สาขาที่พัก จำนวน ๕ ตำแหน่ง ได้แก่ แผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกประกอบอาหาร แผนกอาหารและเครื่องดื่ม และสาขาการเดินทาง ได้แก่ แผนกธุรกิจนำเที่ยว และแผนกบริหารธุรกิจนำเที่ยว ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการรับรองวิชาชีพท่องเที่ยว โดยใช้หลักสูตรประเทศไทยเป็นต้นแบบในการพัฒนา

ปัจจุบัน กลุ่มอาเซียนได้ตั้ง ๓ คณะกรรมการผลักดันด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ คณะกรรมการวิชาชีพแห่งชาติ (National Tourism Professional Board) ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรวิชาชีพการท่องเที่ยวอาเซียน ๓๒ ตำแหน่ง (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals หรือ MRA:TP) ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศสมาชิก

คณะกรรมการชุดที่ ๒ คือคณะกรรมการรับรองวิชาชีพท่องเที่ยว และขุดที่ ๓ ได้แก่คณะกรรมการติดตามตรวจสอบวิชาชีพท่องเที่ยวอาเซียน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง

สำหรับประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการประเมินคุณสมบัติหรือสมรรถนะของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวอีก ๖ คณะ ได้แก่ แผนกต้อนรับ แผนกแม่บ้าน แผนกประกอบอาหาร แผนกบริการอาหารและเครื่องดื่ม แผนกธุรกิจนำเที่ยว และแผนกบริหารธุรกิจนำเที่ยว โดยขอความร่วมมือกับภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและอยู่ในวงการโดยตรงมาร่วมดำเนินการ นอกจากนี้ได้สร้างเครือข่ายการพัฒนาบุคลากร โดยตั้งศูนย์เครือข่ายการประเมินมาตรฐานบุคลากรการท่องเที่ยวในแต่ละภาค เช่น กรุงเทพฯ จัดตั้งที่วิทยาลัยดุสิตธานี ภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นต้น รวมทั้งมีแผนจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น ๓ เดือนเพื่อผลักดันให้แรงงานที่ขาดแคลน เช่น พนักงานต้อนรับ แม่บ้าน ได้เข้าสู่ระบบแรงงานโดยเร็ว

ในขณะที่ ว่าที่ ร.ต. อานุภาพ เกสรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ ว่า กรมฯ มีแผนที่จะจัดอบรมสัมมนาให้แก่มัคคุเทศก์ ให้ความรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน และการปรับตัวอยู่ร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเออีซี และรูปแบบการพัฒนาท่องเที่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

หลักสูตรการอบรมดังกล่าวจะมุ่งเน้นในเรื่องของภาษาที่ต้องใช้เพื่อสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านกว่า ๘ ภาษา และการบริการนักท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตร ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของมัคคุเทศก์ไทยให้คงอยู่ต่อไป

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก