ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ทันตแพทย์ไทยโตรับเออีซี

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

"แม้เราจะภูมิใจว่า ทันตแพทย์ของไทยถือเป็นที่ ๑ ในอาเซียน จากผลการสำรวจระดับนานาชาติ ขณะที่สิงคโปร์ก็มีมาตรฐานสูงเช่นกัน แต่ถ้าเทียบกับไทย ทั้งของปริมาณ คุณภาพและสาขาที่แยกออกไปอีก ๑๐ สาขา นับว่าทันตแพทย์ไทยเป็นผู้นำ และยังอยู่ในอันดับ ๔ ของโลกด้วย แต่ค่ารักษาพยาบาลของเราถูกกว่ามาก เช่น การผ่าตัดฟันคุด ที่เมืองไทยประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แต่ที่อเมริกาไม่น้อยกว่า ๕ หมื่นบาท " ทพ.ทองนารถ คำใจ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว ทำให้ประเทศที่มีกำลังซื้อ เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เข้ามาทำฟันที่เมืองไทย ดังนั้นตลาดแรงงานสาขาทันตแพทย์ของไทย จึงไม่ได้อยู่ที่ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน แต่เป็นตลาดโลก ดังนั้นเมื่อเปิดเออีซี เป็นสัญญาณว่า สถานพยาบาลทำฟันในภาคเอกชนจะต้องเติบโตขึ้น เพื่อรองรับการเปิดเสรี การปรับตัวรับเออีซีนั้น ล่าสุดปรับเพิ่มสัดส่วนทุนต่างชาติมาซื้อหุ้นในภาคเอกชนจากร้อยละ ๔๙ เป็น ร้อยละ ๗๐ ตามข้อตกลงในอาเซียน การทำงานจะมีลักษณะเป็น Mix Staff คือ มีทีมงานจากหลายชาติ ซึ่งอาจจะเป็นหมอจากชาติอื่นที่ไหลเข้ามาทำงานในไทยร่วมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ ทันตแพทย์ยังอยู่ในกลุ่มสาขาอาชีพที่ขาดแคลน ล่าสุดมีทันตแพทย์ในประเทศไทยประมาณ ๑๒,๕๐๐ คน เมื่อเทียบกับประชากร ๖๐ ล้านคน ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาเพียง ๘ แห่งที่เป็นของรัฐ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ๔ แห่ง และภูมิภาค ๔ แห่ง รวมทั้งสถาบันการศึกษาของภาคเอกชนอีก ๑ แห่งในกรุงเทพฯ ที่ผลิตทันตแพทย์ได้ และกำลังจะเริ่มรับนักศึกษาทันตแพทย์เพิ่มขึ้นได้อีก ๓ แห่งในภูมิภาค ใน ๑-๒ ปีการศึกษาหน้า

ขณะที่ ปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งแนวโน้มของ ๗ สาขาอาชีพบวก ๑ ที่นับว่าเป็นแรงงานฝีมือ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักสำรวจ และการบริการถือว่าเป็นแรงงานฝีมือและมีความรู้ สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมทั้งความคุ้มครองทางกฎหมายได้ง่ายกว่าแรงงานทั่วไป ซึ่งเมื่อเปิดเออีซีแล้ว ภาครัฐไม่กังวลแรงงานกลุ่มนี้เท่ากับกลุ่มแรงงานทั่วไปที่มีทั้งไหลเข้าและไหลออกจากประเทศไทย

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก