ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงแรงงานร่วมกับญี่ปุ่นจัดหลักสูตรแรงงานนอกระบบ

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

นายเทรุฮิโกะ เซคิกุชิ ผู้อำนวยการมูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (ประเทศไทย) หรือ JILAF เปิดเผยว่า ขณะนี้มูลนิธิอยู่ระหว่างการคิดหลักสูตรและกลไกในการพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานต่างด้าว ร่วมกับกระทรวงแรงงานของไทย เพื่อเพิ่มคุณภาพแรงงานในไทยให้มีความพร้อมรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

“หากจะก้าวไปข้างหน้าต้องให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบด้วย เพราะมีจำนวนมากถึง ๒๔ ล้านคน ขณะที่แรงงานในระบบมีประมาณ ๑๔ ล้านคน” นายเซคิกุชิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสร้างหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงานนอกระบบและแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะยังไม่มีช่องทางรองรับที่ชัดเจน นอกจากจะดึงแรงงานกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำได้น้อยมาก

ประเทศไทยอาจต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เมื่อมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นจะไม่เป็นปัญหาต่อนักลงทุนต่างชาติ เพราะปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมหลายประเภทนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในกระบวนการแล้ว เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังไม่ใช้แรงงานต่างด้าวมากนัก

นายเซคิกุชิ กล่าวอีกว่า เห็นด้วยกับการที่ไทยสนับสนุนให้นำผู้พิการและผู้สูงอายุมาเป็นแรงงานมากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นจากเออีซี ในขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานของชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ถึงสาเหตุหลักของปัญหาขาดแคลนแรงงานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและความไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษาและทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างถึงผลสำรวจที่ระบุว่าการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และว่าอุปสรรคของการจัดหาแรงงานตามที่ตลาดต้องการต้องมาจากนโยบายเศรษฐกิจโดยรวมที่สมดุลและเปิดกว้าง ซึ่งรวมถึงนโยบายด้านการคลัง อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และตลาดแรงงาน

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๖
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก