ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กศน.ศึกษาข้อเสียเปรียบและข้อได้เปรียบการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับคนไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 28/01/15

นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพและแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชนเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558” ว่ามีกลุ่มที่ได้เปรียบและเสียเปรียบคือ กลุ่มที่ได้เปรียบคือคนที่มีการศึกษาสูง เป็นแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพ และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุน มีเทคโนโลยี สามารถขยายตลาดการค้าและการลงทุนไปยังตลาดขนาดใหญ่ได้ ส่วนกลุ่มที่เสียเปรียบคือคนยากจน คนที่มีการศึกษาต่ำ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ผลการศึกษามีข้อสรุปว่า การจัดการเรียนการสอนของ กศน. จะต้องทำงานแบบเครือข่าย ด้วยการส่งเสริมสถานศึกษาและเครือข่ายอื่น ๆ ให้จัดการศึกษาตลอดชีวิต ศึกษาและใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มากที่สุด เพราะคนเหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ตรงและตรงตามความต้องการของผู้รับบริการได้มากที่สุด กศน.ควรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต แต่ต้องปรับองค์กรและวิธีการทำงานใหม่

นายประเสริฐกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ 5 ประการดังต่อไปนี้ 

1. เร่งทำยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์เรื่องผลกระทบของคนจนต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 

2. สร้างความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

3. พัฒนาหลักสูตรวิชาชีพสำหรับผู้ได้รับผลกระทบเป็นรายกลุ่มอาชีพและสาระสำคัญขององค์ความรู้เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 

4. กำหนดรูปแบบการทำงานระหว่าง กศน.และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการกำหนดสัดส่วนของงานและความรับผิดชอบระหว่าง กศน.กับเครือข่าย โดย กศน.เป็นผู้จัดทำนโยบาย แผน จัดสรรงบประมาณและประเมินผล 

5. จัดทำกฎหมายส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต บรรจุภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ รูปแบบวิธีการทำงานใหม่ที่กระจายอำนาจ ฯลฯ

ที่มาของข่าว www.dlfeschool.in.th/ 17 มีนาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก