ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กศน.อุดรธานีสอน2ภาษา ปั้นคนไทยเก่งอังกฤษรับเอซี

วันที่ลงข่าว: 04/09/13

 “ทักษะภาษาอังกฤษ” จำเป็นต้องใช้ในการเรียนและประกอบอาชีพ ยิ่งในปี 2556 ประชาคมอาเซียน(เอซี)เต็มรูปแบบ เมื่อจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับชาติอาเซียนมากขึ้น ดังนั้น สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)จังหวัดอุดรธานี จึงได้จัดโครงการจัดการศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคภาษาอังกฤษ หรือ "อิงลิช โปรแกรม" ขึ้นเพื่อให้ชาวอุดรธานีได้เรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษ

               ว่าที่ร้อยตรีสมปอง วิมาโร ผอ.สำนักงานกศน.จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า จ.อุดรธานี เป็นเมืองน่าอยู่และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน จึงมีการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และอีกไม่นานจะเปิดประชาคมอาเซียน เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ แต่ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยด้อยกว่าคนในประเทศสมาชิกอาเซียน จะทำให้เสียเปรียบ จึงต้องเร่งยกระดับการศึกษาและทักษะภาษาอังกฤษให้ชาวอุดรธานีเพื่อให้สามารถแข่งขันและค้าขายกับอาเซียนได้

               การจัดการศึกษาหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม เริ่มใน 2 พื้นที่ที่เห็นว่ามีศักยภาพ ที่ "อำเภอหนองหาน" ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านเชียง ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์ รวมทั้งที่ "อำเภอเพ็ญ" ตั้งอยู่ที่ว่าการอำเภอและมีอาสาสมัครต่างชาติมาช่วยสอน หลักสูตรนี้เรียน 2 ปี 4 ภาคเรียน ขณะนี้มีเปิดสอนหลักสูตรนี้ในระดับ ม.ปลาย มีผู้เรียน 62 คน ที่ อ.หนองหาน 30 คน และ อ.เพ็ญ 32 คน โดยมี "นางนวลฉวี ภูดิน" ผอ.กศน.อำเภอหนองหาน และ "นายสมัย แสงใส"ผอ.กศน.อำเภอเพ็ญ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

               “หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม กศน.ยึดหลักผู้เรียนมีความต้องการเรียนและมีความพร้อม เพราะถ้าไม่พร้อมแล้วเรียนไม่จบ จะทำให้สิ้นเปลืองงบเพราะให้เรียนฟรี นักศึกษาจะต้องเรียนจบอย่างมีคุณภาพ เมื่อจบแล้วนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง” ว่าที่ร.ต.สมปอง กล่าว

               ขณะที่ นายเชิดชัย เรียบร้อย หัวหน้ากศน.ตำบลหนองหาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งดูแลการจัดการศึกษาหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม อธิบายว่า นักศึกษา 30 คนที่มาเรียนหลักสูตรระดับม.ปลาย  มีพื้นฐานความรู้และอาชีพที่ต่างกัน ก่อนเรียนจึงทดสอบความรู้ เพื่อให้รู้ถึงพื้นฐานภาษาอังกฤษของแต่ละคน โดยมีวิชาเรียนประกอบด้วยวิชาภาษาไทย สังคม คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สุขศึกษาและพลศึกษา ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจพอเพียง เอสเอ็มอี รวมทั้งให้เรียนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตด้วย

               "เราใช้หลักจิตวิทยาปลูกฝังให้นักศึกษามีความรัก  ความเข้าใจ เอื้ออาทรต่อกัน เพราะที่มาและความรู้พื้นฐานต่างกัน โดยจัดตารางเรียนตั้งแต่ 17.00-21.00 น. ช่วงวันจันทร์-พฤหัสบดี และวันศุกร์เรียนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต วิชาภาษาไทยและสังคมสอนเป็นภาษาไทย วิชาที่เหลือสอนเป็นภาษาอังกฤษ หากบทเรียนยากจะแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยให้นักศึกษาเข้าใจง่ายขึ้น สื่อการสอนก็ดัดแปลงตามความเหมาะสม มีการทดสอบหลังการสอน และพูดคุยเป็นรายบุคคล เพื่อให้ปรับปรุงเรื่องที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งจากการประเมินผลเทอมแรก พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ตั้งใจเรียนและผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี” นายเชิดชัย กล่าวด้วยรอยยิ้ม

               นางนิวร จันดาดอน หนึ่งในนักศึกษาหลักสูตรอิงลิชโปรแกรมระดับม.ปลายของ กศน.อำเภอหนองหาน ซึ่งเปิดร้านสองพี่น้องขายของที่ระลึกอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง บอกว่า มาเรียนเพราะจบชั้นม.3 จึงอยากได้วุฒิม.6 และมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเพื่อใช้พูดคุยแนะนำสินค้าและเผยแพร่ความรู้เรื่องบ้านเชียงซึ่งเป็นมรดกโลกกับลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะอีกกว่า 2 ปีจะเข้าสู่เอซีทำให้มีต่างชาติมาประเทศไทยมากขึ้น

               “ทักษะภาษาอังกฤษถือเป็นสิ่งสำคัญ ช่วงแรกที่เรียนรู้สึกยากแต่ตอนนี้ปรับตัวได้แล้ว จะขยันอ่านหนังสือ ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ มีดิกชันนารีติดตัวอยู่ตลอด และหมั่นฝึกสนทนา ซึ่งการใส่ใจกับการเรียนจะทำให้พัฒนาได้เร็วขึ้น” นางนิวรบอกเทคนิคการเรียน

                เช่นเดียวกับ นางน้อย งอกวงษ์ นักศึกษาหลักสูตรอิงลิชโปรแกรมระดับ ม.ปลายของ กศน.อำเภอเพ็ญ ซึ่งมาเรียนหลักสูตรนี้เพราะอยากมีวุฒิม.6 และมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเพื่อนำไปประโยชน์ในการขายสินค้ากับชาวต่างชาติ เพราะนอกจากทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อบต.แล้ว เธอมีอาชีพเสริมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขายและเชื่อมั่นว่าการเกิดขึ้นของเอซีเป็นโอกาสในค้าขายของคนไทย ถ้าทักษะภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องกลัวเสียเปรียบ จึงไม่ท้อถอยกับการเรียน ค่อยๆ ปรับตัว หมั่นฝึกทักษะฟัง พูด อ่านเขียน กระทั่งผลการเรียนเทอมแรกออกมาน่าพอใจ ท้ายสุดเธอฝากว่าอยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนหลักสูตรนี้เพื่อจะได้มีอนาคตที่ดี

 

โดย...ธรรมรัช กิจฉลอง

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 4 กันยายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก