ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รอบรู้ปัจจัยเสี่ยง “โรคพิการ” สร้าง “ศูนย์บูรณาการฯ” ช่วยฟื้นฟู

วันที่ลงข่าว: 02/09/13

เนื่องในโอกาสวันมหิดล พ.ศ.2556  คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับผู้พิการอย่างอเนกอนันต์  ทรงดำริโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่บกพร่องทางการเคลื่อนไหวและผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองด้วยการใช้ไอทีเพื่อการเรียนรู้

 

รศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปีนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ ได้มีการระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อจัดทำโครงการสร้าง “ศูนย์บูรณาการฟื้นสภาพคนพิการ” ขึ้นที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นต้นแบบการบูรณาการงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ที่ให้บริการอย่างครอบคลุม เบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว อีกทั้งเป็นแหล่งทำวิจัยและร่วมพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อคนพิการ ให้การฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรด้านเวชกรรมฟื้นฟูให้มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการทางกายและการเคลื่อนไหว เช่น อัมพาตไขสันหลังและอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง  และให้บริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตแก่คนพิการ ฝึกทักษะให้ผู้ดูแลและผู้ช่วยคนพิการ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนและประชาชนเกี่ยวการใช้ชีวิตร่วมกับคนพิการและการรู้จักป้องกันความพิการ ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

 

รศ.พญ.อภิชนา โฆวินทะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นสภาพผู้พิการ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติล่าสุด ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 64 ล้านคน ประมาณ 1.39 ล้านคน ขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการและยังมีชีวิตอยู่ นั่นหมายความว่า ร้อยละ 2.1 ของประชากรมีความพิการ ส่วนจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีประชากรประมาณ 1.7 ล้านคน มีผู้ที่ขึ้นทะเบียนคนพิการจำนวน 32,866 คน ในจำนวนนี้มีคนที่มีความพิการทางกายและการเคลื่อนไหวจำนวน 14,806 คน คิดเป็นร้อยละ 45 ของคนพิการทุกประเภท  โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก  (World Health Organization Expert Committee) ได้จำแนกสาเหตุของความพิการทางการแพทย์ไว้ ดังนี้

        

1. ความพิการแต่กำเนิด  อาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ หรือมีการถ่ายถอดความผิดปกติทางสายเลือด เด็กในครรภ์อาจดิ้นไม่แรง หรือไม่ดิ้น เนื่องจากมีความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคข้อติดยึด (Arthrogryposis) อัมพาตของขาเนื่องจากความผิดปกติที่เยื่อหุ้มไขสันหลังและกระดูกสันหลัง (Myelodysplasia) โรคกล้ามเนื้อพิการ (Muscular Dystrophy) หรืออาจมีสาเหตุที่ไม่ใช่จากกรรมพันธุ์  เช่น  สาเหตุระหว่างมารดาตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังมีการพัฒนาโครงสร้างของร่างกายและอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือช่วง 3 เดือนแรก ถ้ามีความผิดปกติของการตั้งครรภ์ระยะนี้อาจทำให้ทารกที่คลอดออกมามีความพิการได้

 

2. โรคติดต่อ เช่น โรคโปลิโอ เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส  เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค  เยื่อบุสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส  ปัญญาอ่อนเนื่องจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก

       

3. โรคที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคข้ออักเสบ  ปวดหลัง  กระดูกสันหลังโก่งหรือคด  หูหนวก  หูตึง  ตาบอด  เบาหวาน โรคมะเร็ง  และโรคลมชัก

        

4. โรคจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคประสาทชนิดย้ำคิดย้ำทำ  เป็นต้น         

        

5. โรคพิษสุราเรื้อรัง และการติดสารเสพติดต่างๆ

        

6. ภยันตรายและการบาดเจ็บ  เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุต่างๆ เช่น  จากอาวุธที่เป็นอันตราย  ยาอันตรายบางชนิด หรืออุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมอง ไขสันหลัง และแขนขา

 

7. ภาวะทุพโภชนาการ  ขาดสารอาหารที่ทำให้ตาบอดหรือพัฒนาการทางสมองช้า

       

8. สาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม  เช่น  การได้รับพิษไอปรอทเรื้อรัง ฯลฯ

 

เนื่องในโอกาสวันมหิดลที่กำลังจะเวียนมาถึงในปีนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก จัดรายการถ่ายทอดสดงาน ‘สวนดอกร้อยดวงใจ...ใส่ใจผู้พิการ’ ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนท์ ทีวี ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2556 เวลา 22.30-24.00 น. ซึ่งในรายการนี้จะนำเสนอละครสั้น ‘ใจบันดาลแรง’ ซึ่งเป็นละครกึ่งสารคดีที่นำเอาเรื่องราวจากชีวิตจริงของผู้พิการที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วสามารถนำพลังและความสามารถของตนกลับมาเกื้อหนุนสังคมได้อีกครั้ง  จึงใคร่ขอเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศ รวมพลังร่วมสร้างศูนย์บูรณาการฟื้นสภาพคนพิการ (Center of Integrative Rehabilitation for Disabled, CIRD) โดยร่วมบริจาคเงินได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก โทร.053-920-400 หรือ 053-947-400 โทรสาร 053-947-888 หรือโอนเงินเข้าบัญชี ‘มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกร้อยดวงใจ’ ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุเทพเชียงใหม่ เลขที่บัญชี 471-2-33333-8 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ เลขที่บัญชี 566-2-36234-5 ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนสุเทพเชียงใหม่ เลขที่บัญชี เลขที่บัญชี 321-0-36234-5 ธนาคารกรุงเทพ สาขาคณะเทคนิคการแพทย์ มช. เลขที่บัญชี 968-0-02499-0 ธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขที่บัญชี 0-2002376040-6

 

เคล็ดลับสุขภาพดี - “6 ท่าบริหารร่างกาย” สู้อาการปวด

 

คนทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปี นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ   โดยเป็นวัยที่ต้องแบกรับภาระในการดูแลและรับผิดชอบครอบครัว ดังนั้น การดูแลสุขภาพของคนวัยนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ปัจจุบันภัยร้ายที่กำลังคุกคามคนเมืองวัยทำงานมากที่สุดคงหนีไม่พ้น อาการ “ออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งเป็นที่รู้จักและพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่คนส่วนใหญ่ยังมองข้ามและขาดข้อมูลที่ดีในการรับมือกับภัยร้ายดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านนวัตกรรมยาคุณภาพของโลกและของไทย จึงได้จัดเวิร์คช็อปสุขภาพดีในหัวข้อ “รอบรู้เรื่องปวด” (Know Your Pain) เพื่อส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการปวด รวมถึงแนวทางป้องกันและรักษาก่อนลุกลาม

 

รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และที่ปรึกษาคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลศิริราช และอดีตนายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย ซึ่งให้เกียรติเป็นวิทยากรรับเชิญภายในงาน กล่าวว่า “อาการออฟฟิศซินโดรม คืออาการปวดกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากการรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เกินวันละ 6 ชั่วโมง โดยไม่ลุกไปผ่อนคลายหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบท”

 

ภายในงานเวิร์คช้อป “รอบรู้เรื่องปวด” ครั้งนี้ ยังได้เชิญ คุณมะเดี่ยว – ชิษณุพงศ์ ยะอ้อน นักวิทยาศาสตร์กายภาพ มาสาธิตท่าบริหารจัดโครงสร้างและยืดหยุ่นร่างกายอย่างถูกวิธี โดยนำเสนอท่าบริหารสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศสามารถนำไปปฏิบัติตามที่ทำงานได้ง่าย และยังทำบ่อยแค่ไหนก็ได้ตามความสะดวก

 

ท่าบริหารที่นำเสนอประกอบด้วยท่าบริหารอย่างง่าย 6 ท่าที่สามารถทำต่อเนื่องกันไปเป็นการบริหารหนึ่งชุด หรือจะเลือกทำท่าใดท่าหนึ่งเพื่อบรรเทาอาการปวดเฉพาะส่วนก็ได้ ท่าบริหารเหล่านี้มีจุดประสงค์ เพื่อเพิ่มสมรรถนะและความยืดหยุ่น รวมถึงผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น คอ ไหล่ สะบัก หลัง และขา ดังนี้

 

ท่าที่ 1: บริหารต้นคอ เริ่มต้นด้วยการไขว้แขนขวาไปด้านหลัง เอียงคอไปด้านซ้าย แล้วเอื้อมมือซ้ายข้ามศีรษะไปวางแนบด้านข้างของศีรษะด้านขวา แล้วทำเช่นเดียวกันนี้กับอีกข้างหนึ่ง

 

ท่าที่ 2: บริหารบ่าและไหล่ ยืนตัวตรง ประสานมือเหยียดแขนไปข้างหน้า ก้มศีรษะพร้อมกับยืดตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ค้างไว้แล้วนับ 1-10

 

ท่าที่ 3: บริหารสะบักและหน้าอก ยืนตัวตรง กางแขนทั้งสองข้างออกในลักษณะตั้งฉาก แล้วค่อยๆ ดึงแขนไปด้านหลัง

 

ท่าที่ 4: บริหารขาด้านหลังและหลังส่วนล่าง   ยืนตัวตรง ชูแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วค่อยๆ ก้มตัวลงเอามือทั้งสองข้างวางแนบพื้นหรือแตะปลายเท้า โดยไม่งอเข่า

 

ท่าที่ 5: บริหารขาด้านหลัง น่อง และหลังส่วนล่าง ทำต่อเนื่องจากท่าที่ 4 โดยยังอยู่ในท่าก้มตัว สอดมือทั้งสองไว้ด้านหลัง หัวเข่า แล้วค่อยๆ งอเข่าทั้งสองข้าง ค้างไว้แล้วนับ 1-10

 

ท่าที่ 6: บริหารหลังส่วนล่าง ยืนตัวตรง ยกแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะ ประสานมือเอาไว้ แล้วค่อยๆ เอนตัวไปด้านหลัง

 

รศ. นพ. ประดิษฐ์ กล่าวเสริมว่า คนทำงานส่วนใหญ่มักจะละเลยสัญญาณเตือนของอาการกล้ามเนื้อแบบออฟฟิศซินโดรม ท้ายที่สุดแล้วอาการอาจลุกลามร้ายแรงจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงานของผู้ป่วย และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นการลงทุนระยะยาว เพื่อความสุขและสุขภาพที่ดีในอนาคต

 

สรรหามาบอก 

 

-โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จัดกิจกรรม สัปดาห์นมแม่โลก World Breastfeed Week 2013 ในธีม“Samitivej Breastfeeding Support : Close to Mothers” ให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จอย่างครบวงจรและยั่งยืน ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ เสวนาในหัวข้อล้อมรักด้วยแรงใจ เลี้ยงลูกได้ด้วยนมแม่ พร้อมมอบโล่ห์ให้กับ Breastfeeding Ambassador และตัวแทนคุณแม่ 9 ท่านในฐานะที่ทุ่มเทเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ติดต่อกัน 6 เดือน หรือ 180 วันขึ้นไปตามที่องค์การอนามัยโลกและมาตรฐานโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัวกำหนดไว้

 

-ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมประชุมวิชาการ “ครบรอบ 20 ปี ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน Translational Immunology : Application in Medicine” ระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2556 ณ ห้องประชุมอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.0-2419-6635-6

 

-สถาบันผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม โรงพยาบาลไท 3 ให้บริการรับปรึกษาปัญหาข้อเข่าเสื่อม ฟรี! ทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 14.00-15.00 น. ผู้สนใจกรุณานัดหมายล่วงหน้าที่ Call Center 1772 

 

-โรงพยาบาลธนบุรี  ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ รู้เท่าทัน ห่างไกล โรคในผู้หญิง”  รับฟังสาระความรู้โรคในผู้หญิง วิธีการป้องกัน รวมไปถึงบริการตรวจวัดความดันโลหิต และวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันใต้ผิวหนัง ฟรี! ในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2556 เวลา 09.00-11.00 น.  ณ ห้องประชุมอินทนิล โรงพยาบาลธนบุรี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2412-0020 ต่อ 2005-7

 

ทีมวาไรตี้

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 2 กันยายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก