ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ปรับกลยุทธ์ปั้นคนพิการเป็นแรงงานฝีมือ แก้ปัญหาขาดแคลนช่างมืออาชีพ

วันที่ลงข่าว: 27/08/13

นักวิจัยปลื้ม ปิ๊งรูปแบบพัฒนาคนหูหนวก ช่วยลด 3 อุปสรรคสำคัญ แก้ปัญหาขาดแคลนช่างฝีมือ เดินหน้าเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ใช้พีอาร์ผ่านครูมากประสบการณ์ พร้อมเครือข่ายใกล้ชิด และการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ เผยความต้องการช่างเชื่อมสูงกว่าแสนคน 

        

       

       จากงานวิจัยเรื่อง”รูปแบบการพัฒนาคนหูหนวก เพื่อการประกอบอาชีพช่างอุตสาหกรรม” โดย นาตยา แก้วใส นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิจัยและพัฒนาการสอนเทคนิคศึกษา ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นับเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างอุตสาหกรรมและสร้างคุณค่าให้กับผู้พิการโดยเฉพาะคนหูหนวกไปในเวลาเดียวกัน เพราะงานวิจัยดังกล่าวช่วยลดอุปสรรคสำคัญ 3 ด้าน

        

       ด้านแรกคือการมองว่าคนหูหนวกที่เป็นช่างเชื่อมจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าคนปกติ เพราะในการวิจัยครั้งนี้ได้สร้างเครื่องมือใหม่มาช่วยลดอุปสรรคคือการใช้สื่อการเรียนการสอนและวิธีการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของคนหูหนวก ด้านที่สองคือผู้สอน จากเดิมซึ่งสอนด้วยความรู้ความเข้าใจและวิธีการของตนเอง มาเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้การสอนคนหูหนวกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

       

       ส่วนด้านที่สามคือการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ ที่เปิดโอกาสให้คนหูหนวกเข้าไปทำงาน เพราะมีการปรับกระบวนการช่วยเหลือใหม่ โดยมีครูพี่เลี้ยงเข้าไปดูแลคนหูหนวกในสถานประกอบการนั้นๆ เพื่อเป็นตัวกลางที่สื่อสารให้กับเพื่อนร่วมงานเข้าใจ จึงทำให้คนหูหนวกสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยไม่มีปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในหารทำงานมาเป็นอุปสรรค

       

       ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม มจพ. สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 2 สุพรรณบุรี และภาค 10 ลำปาง บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) บริษัท ที่นอนดาร์ลิ่ง ขอนแก่น จำกัด และบริษัท โตว่องไว จำกัด ทำให้งานวิจัยดังกล่าวเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะสามารถฝึกอบรมคนหูหนวกและเข้าทำงานเป็นช่างเชื่อมแบบแมกฟิลเลทเหล็กกล้าซึ่งตลาดส่วนใหญ่ต้องการ สามารถพัฒนาครูสำหรับคนหูหนวก และได้รับการยอมรับจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมเป็นการนำร่อง

       

       ดังนั้น จึงจะเดินหน้าแก้ปัญหานี้ในก้าวต่อไป ด้วยการมุ่งเจาะเข้าถึงคนหูหนวกซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง โดยเข้าไปประชาสัมพันธ์ผ่านครูสอนคนหูหนวกที่มีประสบการณ์สูง การใช้เครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนหูหนวก และการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้คนหูหนวกเข้ามาสู่เส้นทางอาชีพนี้ ซึ่งการอบรมการเป็นช่างเชื่อมใช้เวลา 5 วัน หรือ 30 ชั่วโมง จะสามารถเข้าทำงานได้ในระดับเบื้องต้นมีรายได้วันละ 300 บาท แต่เมื่อพัฒนาจนเป็นช่างฝีมือสามารถมีรายได้ชั่วโมงละ 400-700 บาท เพราะความต้องการช่างเชื่อมมีสูงถึงปีละไม่ต่ำกว่า 110,000 คน ขณะที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ผลิตได้เพียงปีละประมาณ 13,200 คนเท่านั้น ส่วนคนหูหนวกมีประมาณ 700,00 คน ซึ่งหากเข้าสู่ตลาดแรงงานจะให้ทั้งประโยชน์และคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวม และต่อตนเอง

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 สิงหาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก