ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แม่เด็กพิเศษ...ผู้หญิงหัวใจนักสู้

วันที่ลงข่าว: 16/08/13

ไม่ว่าลูกจะเกิดมา “ปกติ” หรือ “ผิดปกติ”

 

สัญชาตญาณของความเป็นแม่

 

ย่อมรักลูก และพร้อมที่จะเลี้ยงลูกให้เติบโตสมบูรณ์แข็งแรง

 

หากนี่คือนิยามของ “แม่...ผู้หญิงหัวใจนักสู้” ของสุดยอดคุณแม่อย่าง “จูลี่ชุลีกร สัจจาภิมุข” คุณแม่ผู้มีลูกชายวัย 9 ขวบ “ดิวอี้ศุภกร สัจจาภิมุข” ผู้ซึ่งเป็นโรคกลุ่มสมองพิการเพราะขาดอากาศหายใจ แล้วทำให้มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังทำให้สติปัญญาด้อยกว่าคนปกติ กับ “หนิงจิตติมา กุลประเสริฐรัตน์” คุณแม่ของ “เม่นนิพิฐ กุลประเสริฐรัตน์” ชายหนุ่มวัย 25 ปี ผู้ที่เคยเป็นเด็กสมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้ ปัจจุบันเขาหายเป็นปกติแล้ว จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ทำงานแล้ว และกำลังเตรียมตัวจะศึกษาปริญญาโทอีกด้วย

 

นับต่อจากบรรทัดนี้ไป ผมจะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับหัวใจอันยิ่งใหญ่ของคุณแม่ทั้งสองท่านนี้ ซึ่งหัวใจทั้งสองดวง เป็นหัวใจนักสู้ สู้เพื่อลูกที่เกิดมาผิดปกติโดยแท้จริง

 

แม่จูลี่&น้องดิวอี้ ‘ลูกคือเด็กวิเศษของแม่เสมอ’ (ภาพ13)

 

“แม่คลอดน้องดิวอี้ก่อนกำหนด ตอนนั้นอายุครรภ์เพียง 6 เดือน เพราะมีภาวะน้ำคร่ำรั่ว พอคลอดน้องดิวอี้ออกมา หมอก็บอกว่าเป็นตายเท่ากัน และอาจจะไม่รอด เพราะตอนคลอด เขาหยุดหายใจไปหลายนาที หมอก็ช่วยปั๊มหัวใจ พอเขาหายใจ ก็นำเขาไปเข้าตู้อบ ช่วงที่อยู่ในตู้อบ หมอบอกว่าเส้นเลือดหัวใจไม่ปิด โอกาสรอดยาก แม่ก็ไปขอพระพรหมหน้าโรงพยาบาลว่าขอให้ลูกอยู่กับเรา วันรุ่งขึ้นก็มียารักษาเขา ทำให้เขาอยู่ได้ แล้วก็ได้ออกมารักษาที่บ้าน”

 

ชุลีกรผู้เป็นแม่ เอ่ยถึงอาการผิดปกติหลังคลอดของลูกชาย ซึ่งแม้จะกลับมารักษาตัวที่บ้าน ก็ยังมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นตามมา

 

“หลังจากนั้น แม่ก็รู้สึกว่าลูกเราผิดปกติ จึงรีบพาไปหาหมอ พอหมอได้ตรวจอีกทีก็ค้นพบว่าลูกเรามีแววเป็นผักคะน้าอย่างแน่นอน คือนอนนิ่ง หน้าตาบูดเบี้ยว แม่ก็บ้าไปพักนึง คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องไม่เป็นอย่างนี้ สติแตกไปเลย”

 

หลังจากที่ชุลีกรสงบสติอารมณ์ได้ เธอจึงเดินทางเข้าหาธรรมะ เพื่อค้นหาแนวทางเยียวยาจิตใจ แล้วเธอก็ได้ค้นพบว่า ปัญหามีไว้ให้เผชิญ ไม่ใช่เดินหนี

 

“เมื่อรู้ว่าลูกเราเป็นอย่างนี้ เราต้องเดินเข้าหาเขา แม่ตั้งใจค้นคว้าข้อมูลเพื่อช่วยทำให้เขาหายให้ได้ พาไปว่ายน้ำ ทำกายภาพตั้งแต่แปดโมงครึ่ง จนถึงห้าโมงเย็น ทำมาสามปี ดูแลเขาด้วยสองมือของเรา จนเขายืนได้ และเกาะวอล์กเกอร์จนเดินได้”

 

เรื่องร้ายๆ ยังไม่จบสิ้นแค่นั้น ชุลีกรเล่าว่า พอน้องดิวอี้โตขึ้น สมองก็เริ่มมีปัญหา เริ่มมีอาการชัก ทำให้สิ่งที่เธอทุ่มเททำมาทั้งหมดกลายเป็น 0 “แม่ก็คอยดูแลอาการชักของเขา จนเขาหายดี แต่แล้วเขาก็กลับไปชักใหม่ กลายเป็น 0 อีก แม่ก็ต้องคอยดูแลเขาใหม่ ดูแลกันจนตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้วค่ะ”

 

ชุลีกรเผยว่า คนเป็นแม่อย่างเธอต้องพร้อมเต็มที่ มีกำลังใจที่เต็มที่ รวมทั้งคนในครอบครัว ที่ต้องร่วมมือร่วมใจช่วยทำให้ลุกชายของเธอคนนี้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด

 

“อย่างตอนนี้ แม่ก็จ้างครูมาสอนลูกที่บ้าน ดิวอี้ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ (น้องดิวอี้พูดแทรกว่า มังกี้ แอปเปิ้ล ซึ่งสำเนียงดีมาก) ตอนนี้ก็ทำกายภาพข้างนอกบ้านบ้าง มาทำที่บ้านบ้างค่ะ สลับสับเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อไม่ให้เขาเบื่อ”

 

ด้วยความที่ชุลีกรเชื่อมาเสมอว่า ลูกคือสิ่งเติมเต็มให้กับเธอ ถึงแม้ร่างกายของลูกจะพิการ หรือเป็นเด็กพิเศษ แต่ลูกคือเด็กวิเศษสำหรับเธอเสมอ “ถึงแม้เขาจะยังเดินเองไม่ได้ แต่เขาก็ทำให้เรามีความสุขที่สุด”

 

ในแต่ละวัน ชุลีกรพยายามจะพาเขาไปพบปะกับสังคมนอกบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากให้เขาเห็นคนปกติที่ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้เขาได้ลุกขึ้นสู้ และมีแรงบันดาลใจอยากทำให้ตัวเองเดินได้อย่างปกติ

 

“สิ่งที่แม่คอยบอกเขาอยู่เสมอ นั่นคือ การมีหัวใจเป็นนักต่อสู้คือสิ่งที่สำคัญสำหรับลูกเสมอ เมื่อไรที่ลูกอดทน พยายาม รอคอย และรักตัวเองได้ ลูกก็จะรักคนอื่นได้ และเป็นคนที่มีความสุขที่สุด”

 

ท้ายสุด ชุลีกรกล่าวอย่างมีความสุขว่า สิ่งที่วิเศษที่สุดที่น้องดิวอี้มอบให้แก่เธอ นั่นคือ การที่เขาจะไม่หนีเธอไปไหน เขาจะอยู่กับเธอไปจนตายจากกัน “อย่างพ่อแม่ที่มีลูกปกติ เมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาว เขาก็จะไปมีชีวิตของเขา แต่ลูกคนนี้จะไม่หนีเราไปไหนอย่างแน่นอน”

 

แม่หนิง&น้องเม่น ‘คนเกิดมาเป็นแม่...พร้อมสู้เพื่อลูกเสมอ’(ภาพ45)

 

“สำหรับเด็กสมาธิสั้น เขาเหมือนเด็กทั่วไป ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป แต่กลายเป็นว่าเขาเป็นเด็กครึ่งๆ กลางๆ ที่ไม่มีพื้นที่ยืนในโรงเรียน โรงเรียนส่วนใหญ่มักกันเด็กเหล่านี้ออกไป เพราะเขาไม่ได้สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ออกจะสร้างความวุ่นวายให้ด้วยซ้ำ แต่เด็กเหล่านี้ต้องการโอกาส เราจึงต้องทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างอยู่รอด”

 

นี่คือความรู้สึกของผู้เป็นแม่อย่างจิตติมา ที่ต่อสู้กับอาการสมาธิสั้นและบกพร่องทางการเรียนรู้ของลูกชายคนนี้มาตั้งแต่เล็ก ซึ่งเมื่อลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน เธอถึงได้ค้นพบว่า เด็กสมาธิสั้นมักถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาของเด็กปกติ

 

“แม่ต้องฝ่าฟันกับการเรียนของน้องเม่นเยอะมาก กว่าจะได้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ก็สู้กันสุดชีวิต พยายามทุกหนทาง เพื่อให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุดเหมือนเด็กทั่วไป พอเข้าไปเรียนได้ เขาก็เรียนแบบสอบตก เรียนไม่ผ่าน จนเพื่อนไม่ให้เข้ากลุ่ม แถมยังชี้หน้าว่าลูกเราโง่ จนลูกเรากลับมาบ้านร้องไห้ เราก็บอกลูกว่า อย่าให้ใครมาว่าเราเป็นอะไร แล้วเราต้องเป็นอย่างนั้น”

 

“ผมยอมรับว่า ตอนเด็กๆ ผมจำอะไรๆ ไม่ได้เลย นอกจากเหตุการณ์ที่มีผลกระทบหนักจริงๆ มาเริ่มจำได้ก็ตอนอยู่ ม.3 ม.4 ซึ่งเป็นช่วงที่หายแล้ว ไม่ต้องกินยาแล้ว ใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว”

 

นิพิฐเผยถึงความทรงจำเก่าๆ ที่แทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย แต่เท่าที่รู้ ซึ่งแม่ได้เล่าให้เขาฟัง นั่นคือ ตอนเด็กๆ เขาซนมาก ซนจนครูทนไม่ไหว จนครูไล่ออกจากห้องเรียน แล้วเขาก็เดินออกมาแบบตัวลอยๆ

 

“เมื่อผมเริ่มจำความได้ตอน ม.3ม.4 นั่นหมายความว่า ผมหายดีแล้ว ไม่ต้องใช้ยาแล้ว เรียนแบบไม่สอบตกแล้ว นี่คือหายดีแล้วนะ (หัวเราะ)”

 

จิตติมาเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ต้องรักษาอาการของลูกชายคนนี้ สิ่งที่เธอต้องใส่ใจและคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ คำพูด “เขามีสัมผัสพิเศษที่ไวมาก เราต้องระวังเรื่องคำพูด ต้องพูดอย่างสร้างสรรค์ อย่าไปประณามเขา เพราะจะเป็นแผลในใจติดตัวเขาไป เราต้องหาคำเยินยอให้เขามีกำลังใจอยู่เสมอ จะได้ไม่ใช้ชีวิตอย่างถดถอย”

 

“นอกจากแม่จะคอยพูดให้กำลังใจ แม่ยังคอยให้คำแนะนำเรื่องการเรียน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อต่างๆ จากมัธยมไปมหาลัย จนมาถึงเรื่องหางาน ซึ่งผมก็ต้องขอบคุณแม่ที่คอยช่วยเหลือผม แม้ตอนเด็กๆ ผมจะจำอะไรไม่ได้ แต่ผมก็รู้ว่าแม่สู้เพื่อผมมาตลอด”

 

นิพิฐเผยถึงความรู้สึกในใจที่มีต่อแม่คนนี้ “อย่างที่ผมเคยเป็นเด็กสมาธิสั้น ผมก็อยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นแบบผมว่า ขอให้คอยสังเกตว่าลูกชอบทำอะไร เพราะเด็กสมาธิสั้น ถ้าเกิดชอบทำอะไร เขาจะทำอันนั้นอย่างจริงจัง มีสมาธิมากขึ้น แล้วเขาจะพัฒนาไปทำอย่างอื่นได้ดี ซึ่งมันช่วยฝึกเรื่องสมาธิของเด็กไปในตัว ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูป ทุกวันนี้ผมก็ยังชอบวาดรูป ก็วาดไปเรื่อยๆ และไปเรียนวาดรูปอย่างจริงจังด้วย”

 

ตลอด 25 ปี ที่นิพิฐเติบโตจนมีงานทำ จิตติมาเผยว่า นั่นคือผลลัพธ์ของการที่ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนรอบตัว ครู เพื่อน รวมทั้งตัวนิพิฐเอง ต่างก็ร่วมมือร่วมใจกัน โดยอยู่ภายใต้ความหวัง แต่ไม่คาดหวัง

 

“แม่น้องเม่น และทุกๆ คนต่างมีความหวังว่า เขาจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความหวังนี้ก็ทำให้เขาดีขึ้นเรื่อยๆ ได้จริงๆ ซึ่งแม่ไม่ได้คาดหวังว่าชีวิตเขาจะต้องเลิศเลอ เอาเท่าที่เขาดีพอที่เขาจะดีได้ นั่นก็คือดีที่สุดแล้ว”

 

จิตติมาเผยว่า สิ่งที่เธอประทับใจในตัวลูกชายคนนี้ ก็ตอนที่เขาดูโฆษณาในทีวี แล้วบอกกับเธอว่า โตขึ้น เม่นจะไม่ปล่อยให้แม่กินข้าวกับหมาเหมือนในทีวี

 

“ผมก็ประทับใจแม่ไม่ต่างกันครับ มีอะไรให้ประทับใจมากมายเต็มไปหมด จนพูดได้ไม่หมด” นิพิฐ กล่าวปิดท้าย

 

 

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ 13 วิศิษฐ์ แถมเงิน ภาพ 45 เสกสรร โรจนเมธากุล

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน วันที่ 12 สิงหาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก