ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มอบโลกสดใส ผ่านดวงใจ กับพ่อบุญ แม่อุปถัมภ์

วันที่ลงข่าว: 06/08/13

  ภาพน้องๆ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน ลพบุรี มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แบกสิ่งของด้วยตัวเองตามคำสั่งของครู เช่น ยกโต๊ะ หยิบไมโครโฟนจากห้องเก็บของ เดินได้ตรงตามเส้นทางเฉกเช่นคนปกติ แทบไม่ต้องใช้ไม้เท้าเลย ไม่นับการทำไข่เค็ม การทำถุงมือที่ใช้กับไมโครเวฟ การเย็บเสื้อ กางเกง ผ้ามัดย้อม ฯลฯ รวมทั้งแปลงเกษตรสาธิตที่พวกเขาเรียนรู้จากการกระทำด้วยตัวเอง คือสิ่งที่พิสูจน์คำพูดที่ว่า "เด็กๆ พวกนี้ทำอะไรมากกว่าที่พวกเราข้างนอกคิดไว้เยอะ" ได้เป็นอย่างดี

 

               ยิ่งเห็นน้องๆ ซ้อมร้อง เพลง "พระคุณล้ำฟ้า" ที่มีเนื้อเพลงว่า "พระคุณท่านนั้นเหนือยิ่งชีวา มวลนกกามีพลัง ท่านมาเยี่ยมเยือนเหมือนจะเตือนว่าทางข้างหน้ายังอำไพ น้ำใจของท่านเป็นเหมือนดั่งนางฟ้าหลั่งลงมาชโลมพวกเรา สิ้นความหมองเศร้า เหงาในฤทัยเราจะก้าวไปสู่จุดหมาย ฟ้ากว้างนึกอ้างว้างน่ากลัวอกระรัวเมื่อยามเราอยู่เดียวดาย แสนปลื้มซึ้งในความห่วงใย อบอุ่นใจของเราเหลือเกิน ขอสวรรค์จงอวยพระพร ขอท่านจงสุขสันต์อุราตามปรารถนาบุญญานานัปการ แสนปลื้มซึ้งในความห่วงใย อบอุ่นใจของเราเหลือเอย ขอสวรรค์จงอวยพระพร" นั้น เล่นเอาเหล่าจิตอาสาบริษัทโอร์ล็อฟดรีมเมกเกอร์ จำกัด ซึ่งเข้าร่วมโครงการพ่อบุญ แม่อุปถัมภ์ และจัดโครงการ "มองโลกสดใส ผ่านดวงใจ แทนดวงตา" ถึงกับ ขนลุก และน้ำตาซึม เลยทีเดียว

 

               โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนศึกษาพิเศษการกุศลให้เด็กตาบอดและเด็กพิการซ้ำซ้อน โดยนักเรียนตาบอดปกตินั้นจะสอนหลักสูตรปกติที่กระทรวงศึกษาธิการใช้กับโรงเรียนทั่วไป นักเรียนบางคนของที่นี่ก็ออกไปเรียนในโรงเรียนปกติด้วย แต่นักเรียนพิการซ้ำซ้อนจะสอนหลักสูตรทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน 5 ด้าน คือการเคลื่อนไหว การดำเนินชีวิต สังคม อาชีพ วิชาการ เปิดสอนครั้งแรก วันที่ 9 มิถุนายน 2544 มีนักเรียน 33 คน ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545 ปัจจุบัน มีนักเรียน 99 คน งบประมาณที่ใช้ปีละ 11 ล้านบาทเศษ รัฐบาลอุดหนุน 3 ล้านบาทเศษ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายเดือนของที่นี่คือ 8 แสนบาท/เดือน โรงเรียนนี้ต้องใช้เงินบริจาคราวเดือนละ 5 แสนบาท ล่าสุดโรงเรียนได้จัดกิจกรรม "พ่อบุญ แม่อุปถัมภ์" ที่ได้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่มีจิตศรัทธา อุปถัมภ์นักเรียนคนนั้นๆ เป็นการเฉพาะรายตัวจะบริจาคให้เดือนละ 500 บาทเพื่อช่วยน้องๆ ที่นี่มีชีวิตที่ดีและสามารถเลี้ยงตัวเองและอยูในสังคมได้

 

               น.ส.อิสรีย์ วงษ์ทอง  ผู้จัดการโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน ลพบุรี มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำงานในมูลนิธิและโรงเรียนในเครือกว่า 20 ปีแล้ว เล่าว่า มูลนิธิมีโรงเรียน 8 แห่งทั่วประเทศ คือที่ จ.ร้อยเอ็ด,นครราชสีมา, ขอนแก่น, เพชรบุรี, สงขลา, นครนายก, บ้านเด็กอ่อนรามอินทราและที่นี่ โดย 3 แห่ง จะดูแลนักเรียนพิการซ้ำซ้อนด้วย

 

               จิตติภูมิ ชัยบุรินทร์ ครูสอนดนตรีที่นี่ได้ 1 ปีเศษ เล่าว่า เด็กๆ ที่นี่มีพื้นฐานทางดนตรีแล้ว การแกะเพลงนั้นเด็กๆ จะแกะกันเองจากการฟัง เพราะคนพิการทางสายตานั้น ประสาททางการรับฟัง (หู) จะดีกว่าคนปกติและมีความจำดีมากๆ พวกเขาตั้งวงนี้กันเอง ชื่อสไตลัส แบนด์ (stylus Band) ซ้อมดนตรีทุกวันและเซตอุปกรณ์กันเอง สามารถรับงานแสดงข้างนอกได้ด้วย เชื่อว่าพวกเขาเรียนจบม.3 แล้วบางคนเรียนต่อในระบบปกติได้ บางคนต้องไปประกอบวิชาชีพ จะใช้ชีวิตในสังคมได้และไม่เป็นภาระกับสังคม เพราะโรงเรียนแห่งนี้จะฝึกเด็กทุกคนให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองให้มากที่สุดเพราะเมื่อจบแล้วพวกเขาต้องดูแลตัวเอง ส่วนเด็กพิการซ้ำซ้อนนั้นดูแลตัวเองไม่ได้แต่สอนให้พวกเขาดูแลตัวเองในระดับหนึ่งได้

 

               สนใจเยี่ยมชมโรงเรียนได้ที่ เลขที่ 3 หมู่11 บ้านดงจำปา ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000 ดูข้อมูลได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/#!/profile.php?id=100002444368587 สอบถามข้อมูลโทร.0-3649-9480, 0-3649-9403 โทรสาร 0-3649-9404 อีเมล info_ib@cfbt.or.th บริจาคผ่านบัญชี มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ธนาคารกรุงไทย สาขาลพบุรี บัญชีออมทรัพย์เลขที่111-1-11795-0

 
 : โดย...สมัชชา หุ่นสาระ 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 3 สิงหาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก