ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“มะนาว” บัณฑิต มทร. กับ วีลแชร์ไฟฟ้า บนโลกใบนี้ ยังมีอะไรอีกเยอะ

วันที่ลงข่าว: 29/07/13
น.ส.ปัญญพัฒน์ ปรีดางกูรู นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
วีลแชร์ไฟฟ้าอวัยวะที่ 33 พาหนะประจำตัวของเด็กสาวคนหนึ่ง ใช้เดินทางไปเรียน ภาพที่หลายๆ คน ได้เห็นจนชิน สร้างแรงบันดาลใจและประทับใจให้กับทุกคนที่ได้พบเห็น เด็กสาวคนนี้คือ “มะนาว” น.ส.ปัญญพัฒน์ ปรีดางกูรู นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
มะนาว เล่าว่า 6 เดือนต้องลืมตาดูโลก ส่งผลให้ตนเองป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่มีแรงในการเดิน ต้องอาศัยวีลแชร์เป็นอวัยวะที่ 33 ของตนเอง ปัจจุบันอาศัยอยู่กับแม่ ยายและตา เนื่องจากพ่อและแม่เลิกกันตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ แม่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ คุณยายเป็นแม่บ้าน คุณตาขับแท็กซี่ ช่วงแรกๆ สามารถเดินได้โดยใช้ วอล์กเกอร์ ในการเดินหมั่นพบหมอในการทำกายภาพบำบัด แม่ ยายและตาพาไปรักษา ตอน 7 ขวบเข้ารับการผ่าตัด ทำให้มีหวังในการเดิน แต่เมื่อผ่าตัดมาแล้วลักษณะการเดินผิดปกติ คือจะเดินจิกปลายเท้า ลักษณะเหมือนคนเต้นบัลเล่ต์ อายุ 11 ปี จึงเข้าผ่าตัดรอบสอง โดยคุณหมอจะใส่เหล็กเข้าไป หลังผ่าตัดเวลาฟ้าร้องจะเจ็บมาก มันรู้สึกทรมานมาก หลังจากนั้นมา อาการหลังจากผ่าตัดครั้งที่ 2 ก็ไม่ดีขึ้น จึงไม่ได้ผ่าตัดอีก อาศัยการทำกายภาพบำบัด ตั้งแต่ผ่าตัดรอบที่ 2 ผ่านไปไม่กี่เดือน ตนเองก็ไม่ได้เข้าไปทำกายภาพบำบัดอีก อาการของตนเองในปัจจุบัน “แขนข้างขวาเกร็ง ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง” จึงต้องอาศัยวีลแชร์ในการไปไหนมาไหน
 
สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 จากโรงเรียนศรีสังวาล จ.นนทบุรี ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.65 ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ที่บ้านไปส่งเช้าวันจันทร์ และเย็นวันศุกร์ไปรับกลับบ้าน อยู่ที่โรงเรียนรับหน้าที่เป็นสารวัตรนักเรียน นำน้องๆ สวดมนต์ เป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าอบรมสภานักเรียน จ.นนทบุรี ประกวดกิจกรรมวิชาการต่างๆ เช่น การแต่งกลอน วิชาการ ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ทำจะเน้นในส่วนของวิชาการ อยู่ที่โรงเรียนศรีสังวาล มีเด็กพิการหลายรูปแบบ บางคนพูดได้เดินไม่ได้ หรือบางคนเดินได้พูดไม่ได้ ดังนั้น อยู่โรงเรียนเดียวกันต้องช่วยเหลือกัน นอกจากทำกิจกรรมทางวิชาการแล้ว ยังเป็นตัวแทนโรงเรียนเป็นนักกีฬา “บอคเซีย” ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 2 ถึงมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 แต่เนื่องจากร่างกายของตนเองแข็งแรงเกินไปที่จะสามารถลงแข่งขันบอคเซียได้ ซึ่งในการเล่นกีฬาบอคเซีย ต้องมีการเช็คร่างกายของนักกีฬา ร่างกายของตนเองไม่ผ่านเกณฑ์ไม่สามารถลงแข่งขันได้ ตนเองจึงเลิกเล่นกีฬาชนิดนี้
 
ความฝันของตนเองหลังจากจบ ม.3 อยากเรียนสายศิลป์-ภาษา โรงเรียนสายสามัญ แต่คุณตาและคุณยาย อยากให้เรียนใกล้ๆ บ้าน จึงให้เข้าเรียนสาขาบริหารธุรกิจคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวัฒนาบริหารธุรกิจ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นวิทยาลัยอาชีวะ เรียนกับเพื่อนๆ คนปกติ แม่จึงตัดสินใจซื้อวีลแชร์ไฟฟ้าให้ เพื่อความสะดวกสบายในการเรียน โดยคุณตาเป็นคนขับแท็กซี่ไปส่งที่วิทยาลัย ตอนเย็นไปรับกลับบ้าน ตนเองเป็นเด็กคนเดียวที่พิการในวิทยาลัยแห่งนั้น ชีวิตในวิทยาลัยลำบากมาก “ต้องห่อข้าวไปทานที่โรงเรียน” เพราะว่า ไปไหนไม่สะดวก เพื่อนในโรงเรียนก็มีไม่กี่คน ต้องพยายามมาก ปรับตัวมากในการใช้ชีวิตในวิทยาลัยแห่งนี้ แต่ไม่เคยท้อที่จะใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กปกติ เพราะแม่สอนว่า “ถ้าคนปกติมีความพยายาม ตนเองก็ต้องมีความพยายามเป็นสองเท่าตัวของเด็กปกติ” ส่งผลให้เกรดเฉลี่ยตอนจบ 3.89 ส่งผลให้ตนเองได้รับโล่รางวัล “ผลการเรียนยอดเยี่ยม” ในการสำเร็จการศึกษา
 
ส่วนตัวหลังจากที่เรียนจบในระดับ ปวช. อยากเรียนสาขามัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน อยากเรียนอะไรที่สามารถเรียนรู้ได้หลายสาขา ซึ่งสาขานี้สามารถทำแอนนิเมชั่นได้ มีการเรียนตัดต่อ ทำอะไรได้หลายๆ อย่าง จึงศึกษาข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยไหนรับคนพิการเข้าศึกษาบ้าง แต่สาขานี้ไม่มีที่ไหนรับคนพิการเข้าศึกษา จึงตัดสาขาวิชานี้ไป จึงหันมาสนใจสาขาบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ เนื่องจาก ช่วงฝึกงานในระดับ ปวช. ได้ฝึกงานฝ่ายสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่โรงงานของแม่ ซึ่งตอนนั้นพี่ๆ ที่ทำงานได้ชักชวนให้ทำงานที่นั่น หลังจบ ปวช. แต่ตนเองคิดว่า ความรู้ที่เรียนมายังไม่พอที่จะเข้าทำงาน ถ้าเรียนต่อจะมีโอกาสในการทำงานมากกว่านี้ และที่สำคัญกว่านั้น อยากเรียนจบปริญญาตรีเพื่อแม่ ถ้าเราจบปริญญาตรี แม่ก็จบปริญญาตรีเหมือนกับตนเอง จึงตัดสินใจเรียนต่อใน สาขาบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ
 
ในตอนเด็กๆ อยากประกอบอาชีพ “นักโปรแกรมเมอร์” เพราะคิดว่า อาชีพนี้ต้องเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ แต่เมื่อเข้ามาเรียนในระดับ ปวช. การที่จะเขียนโปรแกรมหนึ่งโปรแกรมไม่ง่ายเลย ซึ่งตนเองคิดว่าอาชีพนี้คงจะไม่เหมาะกับตนเอง ตอนนี้คิดว่าหลังเรียนจบจะประกอบอาชีพ “พนักงานฝ่ายบุคคล ทำทุกอย่างที่สามารถทำเงินให้ได้มากๆ หาเงินให้แม่ใช้ให้ได้มากที่สุด” อยากให้แม่สบาย แม่ลำบากมาเยอะเพื่อตนเอง ต้องกู้เงินจากบริษัทมาส่งเรียน “ถ้าไม่มีแม่ ก็ไม่ได้เรียน และไม่มีตาและยาย ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เช่นกัน” ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 สาขาบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อาศัยอยู่หอพักในมหาวิทยาลัยฯ อยู่คนเดียว อาศัยวีลแชร์ไฟฟ้าอวัยวะที่ 33 เป็นพาหนะในการเดินทางไปเรียนที่คณะ
 
“ใช้ชีวิตในหอพักคนเดียวลำบากนะ แต่เนื่องจากเคยอยู่โรงเรียนประจำตอนเด็กๆ จึงไม่ลำบากเท่าไร” โชคดีมีเพื่อนห้องข้างๆ คอยให้ความช่วยเหลือ และเพื่อนๆ พี่ๆ ในคณะคอยช่วยเหลือ เวลาจะทานข้าวจะทานที่โรงอาหารมหาวิทยาลัยฯ ตอนเย็นก็ซื้อที่โรงอาหารมหาวิทยาลัยฯ เพราะโรงอาหารมหาวิทยาลัยฯ ปิด 6 โมงเย็น แต่ถ้าวันไหนเลิกเรียนเย็น จะโทรมาบอกพี่ยามที่หอพักซื้อข้าวไว้ให้ แล้วมาจ่ายตังพี่ยาม ต้องขอขอบคุณพี่ยาม นางอภิพร อ่องซี ที่คอยให้ความช่วยเหลือ แม่จะมาหาทุกวันศุกร์เย็น มานอนด้วย วันอาทิตย์ก็กลับ “ตนเองโชคดีที่เกิดมาเป็นลูกแม่” ทุกวันหลังเลิกเรียนประมาณ 17.00 น. แม่จะโทรมาทุกวัน
 
ตอนแรกคิดว่าชีวิตมหาวิทยาลัยฯ จะลำบากเหมือนตอนเรียน ปวช. แต่กลับอบอุ่นกว่าตอนเรียนวิทยาลัยฯ สังคมที่นี่ ไม่เหมือนตอนเรียน ปวช. รู้สึกดีที่ได้เข้ามาเรียนที่นี่ มีเพื่อนดี มีอาจารย์คอยให้ความช่วยเหลือ ประทับใจมาก เวลาที่ฝนตก เพื่อนๆ จะช่วยกันอุ้มขึ้นรถสองแถวมาส่งที่หอ เวลาที่ไปเรียน ถ้าวีลแชร์ไฟฟ้าเกิดขัดข้องระหว่างทาง สามารถโทรเรียกเพื่อนมารับได้ เคยถามเพื่อนที่เรียนในห้องว่า “รังเกียจหรือไม่ที่เราเป็นแบบนี้” เพื่อนตอบว่า ทำไมคิดแบบนี้ มีอะไรต้องช่วยเหลือกัน วีลแชร์ไฟฟ้าชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง สามารถอยู่ได้ 2 วัน แต่เพื่อความไม่ประมาท ควรชาร์จแบตเตอรี่ทุกวัน “ไม่อยากเป็นภาระของใคร” อยากทำทุกอย่างด้วยตนเอง “ต้องทำทุกอย่างด้วยตนเองก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ก่อนแล้วจึงควรเป็นภาระคนอื่น”
 
19 ปี ถามว่าเคยท้อแท้หรือไม่ ทุกวันไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือพิการทุกคนท้อแท้หมด บางทีที่ท้อจะร้องไห้ ระบายออกมา แล้วจึงโทร.ไปเล่าให้แม่ฟัง แต่จะไม่ท้อบ่อย เพราะว่าเดี๋ยวแม่ไม่สบายใจ แม่เหนื่อยจากการทำงานแล้ว ต้องมาเหนื่อยกับตนเองอีก เวลาว่างๆ ตนเองจะอ่านหนังสืออ่าน ดู Youtube ในวิชาเรียนที่ไม่เข้าใจ เพื่อหาความรู้ใส่ตัวเอง หรือไม่ก็ฟังเพลง แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต มีแม่เป็นไอดอลในเรื่องของการใช้ชีวิต มีพี่โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร เป็นไอดอลในการเรียน และอีกคนคือ คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนเรื่อง “ความสุขของกะทิ” แรงบันดาลใจที่อยากเป็นนักเขียน อีกหนึ่งอาชีพที่ใฝ่ฝัน
 
“ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้ หากเรามีความพยายาม พยายามเถอะแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จ ทุกคนที่เป็นเหมือนตนเอง ล้วนอยากเดินได้เหมือนกับคนปกติ เช่นเดียวกับตนเอง แต่เมื่อทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ “ท้อได้ เหนื่อยได้ แต่อย่าถอย” ในเมื่อเกิดมาเป็นแบบนี้ อย่าให้ใครดูถูก ควรมองว่าตนเองเป็นคนปกติ อย่ามองข้าม อย่ามองว่าไม่มีค่า ทุกคนมีค่าทุกคน อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะทำตัวให้มีค่าแค่ไหน ขอให้สังคมให้โอกาส เปิดโอกาส” มะนาว กล่าวทิ้งท้าย
“น้องมะนาว” น.ส.ปัญญพัฒน์ ปรีดางกูรู

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 23 กรกำาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก