ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มูลนิธิคุณพุ่ม เชิดชูผู้ให้คุณค่าเด็กออทิสติก

วันที่ลงข่าว: 26/07/13

เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านข่าวสาวผู้พิการแขนทั้ง 2 ข้าง ใช้เท้าที่มีอยู่ทำงานจนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันและงานอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวที่มีอยู่ถึง 3 ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป จากต้นแบบหญิงสู้ชีวิตรายนี้ ก็น่าจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้กับผู้พิการทั้งหลายได้เห็นคุณค่าของตนเองว่าหากได้นำเอาศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้แล้วคุณค่าก็จะเกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งการที่ผู้พิการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแสดงทักษะของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับวิถีชีวิตได้มากนัก ก็อาจเป็นเพราะไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกวิธี หรือการพัฒนาไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งไปคิดว่าผู้พิการเป็นผู้น่าสงสารช่วยเหลือตนเองไม่ได้ด้วยแล้ว การดูแลจึงออกมาในรูปแบบของการสงเคราะห์มากกว่าการพัฒนา ซึ่งส่วนนี้ก็เชื่อว่าผู้พิการส่วนใหญ่เองก็คงไม่อยากให้ใครมาสงสารหรือเป็นภาระให้กับผู้อื่นเป็นแน่ หากสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้ ดังนั้นการที่จะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนคงจะต้องร่วมกันแก้ไขข้อบกพร่องและพัฒนาเติมเต็มในศักยภาพด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง หากยังเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้ 

 

ซึ่งการที่จะพัฒนาผู้พิการให้เกิดผลคงจะต้องมีความเข้าใจถึงข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นและวิธีการแก้ไขด้วยความพิการมีอยู่หลายประเภทและแต่ละประเภทก็มีปัจจัยพร้อมรับกับการพัฒนาไม่เท่ากัน วิธีการจึงมีความซับซ้อนแตกต่างกันไปด้วย เช่น กรณีของกลุ่มออทิสติก ที่มีความผิดปกติการพัฒนาการรอบด้าน ซึ่งอาการจะมีตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง ไปจนถึงรุนแรง การที่จะดึงเอาศักยภาพของแต่ละกลุ่มออกมาได้ จะต้องมีวิธีการที่ตรงกับความบกพร่องของแต่ละระดับอาการ หากทุกฝ่ายเข้าใจเช่นนี้แล้วการดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จก็จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น เช่น การดำเนินงานของ “มูลนิธิคุณพุ่ม” ที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเด็กพิเศษ เด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มออทิสติก ให้เข้าถึงสิทธิพื้นฐานทางด้านการศึกษา ได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียมทั่วถึง และเพื่อให้มูลนิธินี้ได้เป็นศูนย์รวมใจทุกฝ่ายให้เกิดความตระหนัก เห็นคุณค่าบุคคลออทิสติกที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติเหมือนผู้ปกติทั่วไป ทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิคุณพุ่มในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา จึงเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งครู  ผู้บริหาร แพทย์ ตำรวจ ทหาร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ปกครอง เข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย แสวงหาแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาเด็กออทิสติกอย่างต่อเนื่อง จนเกิดรูปแบบ นวัตกรรมที่สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างได้ผล ผ่านการจัดกิจกรรมและโครงการที่หลากหลาย อาทิ โครงการ Happy G Road show สร้างความรู้คู่คุณธรรม โครงการ KhunPoom e-learning Center โครงการ Happy G family ค่ายสานรักสานใยครอบครัว โครงการร้อนนี้มีกีฬาเพื่อลูกรัก ค่าย Happy G Camp : เรียนรู้โลกกว้าง โครงการสานฝันปันรักเพื่อน้องพิการและด้อยโอกาส โครงการอาชาบำบัด การใช้คอมพิวเตอร์พัฒนาทักษะด้านอาชีพ ดนตรี ศิลปะ  นอกจากนั้นยังได้พัฒนาเครือข่ายผู้ปกครอง ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลบุตรหลานตั้งแต่แรกพบอาการโดยมีสถานศึกษาและโรงพยาบาลเป็นเครือข่าย การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมทักษะและการเรียนรู้ของบุคคลออทิสติก  พร้อมสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กออทิสติก รวมถึง การจัดงานมูลนิธิคุณพุ่ม Happy G I Feel Good : Asean Autism Congress เพื่อขยายเครือข่ายให้ถึงระดับอาเซียน เป็นต้น

 

จากวิธีการพัฒนาด้วยรูปแบบที่สอด คล้องกับความบกพร่อง ช่วยทำให้เด็กออทิสติกสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองได้ระดับหนึ่ง และก็มีไม่น้อยที่สามารถพัฒนาตนเองจนเกิดทักษะไม่ต่างจากคนปกติ  อาทิ  ด.ช.วรเชษฐ์ บัวเชย รร.สาลิกา จ.นครนายก ที่สามารถวาดภาพสร้างสรรค์ได้อย่างงดงามมีผลงานเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์มาแล้ว  นายปัญญา หอมมาลัย  รร.ปัญญาวุฒิกร กทม.  มีทักษะด้านว่ายน้ำได้พัฒนาตนเองจนได้รับคัดเลือกเป็นนักกีฬาว่ายน้ำคนพิการทีมชาติไทย เข้าแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ได้รับเหรียญรางวัลตลอดมา นายวัฐกรณ์ สัมบุณณานนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษ อยู่ในระดับดี และยังเป็นผู้ช่วยการวิจัย เรื่อง การใช้โฟมเพื่อพัฒนาทักษะการว่ายน้ำของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึง น.ส.เปรมฤดี จิรพัฒน์สุกุล วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี มีความสามารถในการวาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน มีผลงานชนะเลิศในระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น

 

สำหรับตัวอย่างคุณภาพที่เกิดขึ้นกับเด็กออทิสติกที่นำมาเสนอครั้งนี้ก็คงเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดียิ่งว่าบุคคลออทิสติกสามารถพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ก็มาจากความร่วมมือ ร่วมใจของทุกภาคส่วนที่ได้ทุ่มเทพลังกายใจให้กับการพัฒนา จากความดีที่ทุกฝ่ายมีให้กับเด็กออทิสติกนี้ มูลนิธิคุณพุ่ม โดยพระมหากรุณาธิคุณ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จึงทรงมีพระราชดำริที่จะยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ร่วมดำเนินการเพื่อสร้างพลังใจที่จะร่วมกันพัฒนากลุ่มออทิสติกให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป จึงได้มีการคัดเลือกบุคคลและหน่วยงานเข้ารับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2556 โดยมีบุคคลและหน่วยงานเข้ารับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วย ผู้ให้การสนับสนุน ได้แก่ โรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์ ศ.(พิเศษ) แพทย์หญิงเพ็ญแข ลิ่มศิลา รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ผู้บริหารสถานศึกษา ได้แก่ นายสุรพล รุ่งวิริยะวงศ์  รร.วัดเสาธง  จ.สุพรรณบุรี นางญาณกร จันทหาร ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขต 5  ครูผู้สอน ประกอบด้วย น.ส.วันทนีย์ เรืองไรสวัสดิ์ รร.กาวิละอนุกูล จ.เชียงใหม่ น.ส.จตุพร ปัญโญใหญ่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขต 6 น.ส.ศุภวรรณ พุทธสุภะ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขต 3 น.ส.ณฐมน บุญเรือน รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นางสุลีกาญธิแจ้  รร.วัดช่างเคี่ยน  จ.เชียงใหม่  นางปัทมา รุ่งสว่าง รร.อนุบาลวัดไชยชุมพลชนะสงคราม  จ.กาญจนบุรี  นางพูลศรี กองหอม  รร.วัดเสาธง  จ.สุพรรณบุรี  นางราตรี สมนึก รร.พลร่มอนุสรณ์ มิตรภาพที่ 50 ประเภทประกอบอาชีพ นายซากุระ ซิมิซึ  ผู้ปกครอง ได้แก่  นางพัชรา ไทรงาม จ.ตรัง น.ส.อารยา แดงแสง  จ.ชลบุรี  นางวิรานันท์ หอมมาลัย กทม. นางรัตนา สุริยวงศ์  จ.เชียง ใหม่ ผู้ทำคุณประโยชน์  น.ส.ฐิติมา องค์การธง จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ หน่วยงานที่จัดการศึกษาเรียนร่วม ได้แก่  รร.วัดช่างเคี่ยน  จ.เชียงใหม่  ศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดชลบุรี หน่วยงานฟื้นฟูและพัฒนา ได้แก่ โรงพยาบาลสระบุรี หน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ และบุคคลออทิสติกที่ได้รับเข็มเชิดชูเกียรติครั้งนี้ตามรายชื่อที่ได้ยกตัวอย่างเบื้องต้นไปแล้วนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตามการนำเสนอเรื่องดังกล่าวก็เพื่อต้องการสร้างความตระหนักให้ทุกฝ่ายได้เห็นคุณค่าของผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการได้คำนึงถึงสิทธิและโอกาสการพัฒนาอย่างเท่าเทียมทั่วถึงต่อไป  เพราะปัจจุบันยังมีผู้พิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับโอกาสการพัฒนาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังนั้นหากทุกฝ่ายให้ความสำคัญในการพัฒนาด้วยวิธีการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” อย่างเช่น มูลนิธิคุณพุ่ม ได้ดำเนินการกับกลุ่มออทิสติกแล้ว เชื่อว่ากระแสแห่งความร่วมมือจะกลายเป็นแสงทองส่องสว่างนำทางให้เด็กพิการได้ก้าวเดินไปสู่วิถีชีวิตที่มีคุณภาพอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรีได้แน่.

 

กลิ่น สระทองเนียม

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก