ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คนไทยทำได้! 'SenzE' เครื่องช่วยสื่อสารผ่านดวงตา ถูกกว่าดีกว่าเพื่อคนไทย

วันที่ลงข่าว: 24/07/13


ตามทีมข่าวไอทีออนไลน์ ไปทำความรู้จักอุปกรณ์ช่วยสื่อสาร พัฒนาโดยคนไทย แต่ประสิทธิภาพแซงหน้าต่างชาติ มั่นใจคุณภาพดีกว่าราคาถูกกว่า แถมปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง

ต้องยอมรับว่าการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน แต่ละวันเราใช้เทคโนโลยีกันอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เห็นใช้งานกันบ่อยครั้งและแพร่หลายทั่วโลก เพราะไม่เพียงประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสาร แต่ยังช่วยทำให้คนอยู่ต่างภูมิภาค ต่างประเทศได้ใกล้ชิดกัน เสมือนทำให้โลกแคบลง แต่หากจะบอกว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถฟื้นความสามารถในการสื่อสารให้แก่ผู้ป่วย และผู้ที่สูญเสียความสามารถในการสื่อสาร ทั้งการพูด การเขียน ให้กลับมาสื่อสารกับผู้อื่นได้อีกครั้ง คุณจะเชื่อหรือไม่!!

 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการสื่อสารผ่านทางสายตาสำหรับผู้ป่วยอัมพาต โดยเป็นเครื่องแรกของโลกที่ทำงานด้วยซอฟต์แวร์ภาษาไทย ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่มนุษย์สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถสื่อสาร ได้กลับมาสื่อสารแสดงความรู้สึกความต้องการได้ดังเดิม ด้วยแนวคิดในการผลิตและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิเทค โซลูชั่น จำกัด ผู้คิดค้นวิจัย ผลิต และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ SenzE ได้เล่าถึงแนวคิด ประโยชน์ที่น่าสนใจ รวมถึงความสำเร็จของอุปกรณ์ดังกล่าว ที่คนไทยสามารถผลิตได้เป็นประเทศที่ 3 ของโลก และเป็นเครื่องแรกในเอเชีย ให้ผู้อ่านทุกท่านได้ติดตามและชื่นชมไปพร้อมกัน...

 ก่อนหน้านี้ผมทำธุรกิจด้านไอที บริษัท บางกอกโซลูชั่น จำกัด โดยจัดทำซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่พบว่าพ่อของเพื่อนคนหนึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้ไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้เลยทั้งการพูดและการเขียน เพื่อนคนดังกล่าวจึงได้มาปรึกษากับผมว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรเพื่อช่วยเหลือให้พ่อของเขาสามารถกลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง

 หลังจากได้รับโจทย์ดังกล่าว ผมได้ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลจนกระทั่งพบว่ามีเทคโนโลยีการตรวจจับดวงตา (Eye Tracking System) ที่ใช้ประโยชน์จากการสื่อสายด้วยสายตา แต่ในต่างประเทศเองก็มีการพัฒนาไม่มากนัก โดยพบว่ามีในอเมริกาและสวีเดน แต่ในเอเชียหรือไทยยังไม่มีใครทำเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างจริงจัง จึงนำไอเดียดังกล่าวไปเสนอสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ เมื่อปี 2554 และได้รับทุนให้เปล่าสนับสนุนราว 500,000 บาทมาในที่สุด เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ SenzE สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถทางการสื่อสาร อาทิ ผู้ป่วยอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง บาดเจ็บทางสมอง ซึ่งมีมากกว่า 900,000 รายในประเทศไทย

หลังจากพัฒนาเสร็จในขั้นตอนแรกในช่วงกุมภาพันธ์ 2555 ก็ได้มีการนำไปทดสอบกับผู้ป่วยจริงที่สถาบันประสาทวิทยา จำนวน 10 ราย ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากนั้นจึงมีการขอทุนสนับสนุนอีกครั้งราว 600,000 บาท เพื่อพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเอ็นไอเอต้องการให้จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากอุปกรณ์ SenzE ถือเป็นเครื่องแรกของโลกที่มีซอฟต์แวร์ภาษาไทย ขณะเดียวกันก็ยังถือเป็นความสำเร็จแรกในเอเชียที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมาสื่อสารได้ด้วยสายตา และยังสามารถลดต้นทุนจากการนำเข้าอุปกรณ์ลักษณะดังกล่าวจากต่างประเทศ ทั้งยังสามารถส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศได้อีกด้วย โดยบริษัทการสนับสนุนทุนด้านการออกแบบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ จึงได้ก่อตั้งบริษัท เมดิเทค โซลูชั่น จำกัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 หลังจากเรามีความพร้อมและคิดว่าสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว

 

อุปกรณ์ในชุด SenzE ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป 1 เครื่อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องราคาแพงหรือสเปกสูงมาก เพราะโปรแกรมที่ใช้นั้นไม่ได้ใช้ทรัพยากรเครื่องหนัก และใช้ร่วมกับจอแอลซีดีขนาด 19 นิ้ว และกล้องเว็บแคมความคมชัดสูง โดยวางบนโต๊ะที่รวมอยู่ในชุดอุปกรณ์ และยังสามารถพับเก็บใส่กล่องเคลื่อนย้ายและขนส่ง ซึ่งสามารถประกอบใช้งานได้ภายใน 5 นาที

ขณะเดียวกันยังให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าอุปกรณ์ของต่างประเทศ เนื่องจากใช้เทคโนโลยีการตรวจจับสายตาที่ให้ความแม่นยำ ปลอดภัยกว่า และทนทาน ซึ่งในต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยีแบบอื่นซึ่งจะใช้ได้ผลดีเฉพาะผู้ป่วยนอนราบขณะใช้งาน เนื่องจากต้องตรวจจับดวงตาทั้ง 2 ข้าง และใช้สายตาแทนเม้าส์ในการคลิกเลือกเมนูต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าสายตา แตกต่างกับอุปกรณ์ SenzE ที่ใช้งานง่ายกว่า และตรวจจับดวงตาเพียงข้างเดียว ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้พิการที่มีดวงตาเพียง 1 ข้างยังสามารถใช้งานได้ ส่วนการใช้งานนั้น ยืนยันว่าใช้งานง่ายและสะดวก โดยทางบริษัทจะมีการแนะนำให้จนกว่าผู้ดูแลหรือผู้ป่วยจะใช้งานได้

ในการใช้งานอุปกรณ์ SenzE ใช้การเลื่อนแถบเมนูอัตโนมัติ โดยผู้ป่วยสามารถกะพริบตา 2 ครั้ง เพื่อเลือกเมนูหรือข้อความที่กำลังปรากฏแถบสีอยู่บนหน้าจอ ซึ่งมีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการเลือกได้น้อย และยังมีข้อดีซึ่งอุปกรณ์นั้นไม่ได้ถูกยึดไว้กับตัวผู้ป่วย โดยตั้งห่างจากตัวผู้ป่วยราว 70 เซนติเมตร เสมือนการดูโทรทัศน์ จึงไม่สร้างความรำคาญและปลอดภัยในการใช้งาน สามารถดูแลรักษาอุปกรณ์ได้ง่ายกว่าเพราะแต่ละชิ้นส่วนนั้นแยกออกจากกันได้

อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานอุปกรณ์ SenzE ยังมีข้อจำกัด เช่น แสงสว่างภายในห้อง ซึ่งไม่ควรเป็นแสงสีส้ม, สติสัมปชัญญะของผู้ใช้ ต้องสามารถจดจำรูปลักษณ์และจำแนกสิ่งของได้ และต้องสามารถกะพริบตาได้, สามารถอ่านหนังสือได้ แต่ผู้ที่ไม่มีความชำนาญในเทคโนโลยีและไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อน จะสามารถใช้งานอุปกรณ์ SenzE ได้อย่างแน่นอน

ประโยชน์ของอุปกรณ์ SenzE คือ การทำให้ผู้ป่วยที่ไม่เคยสื่อสารได้เลย สามารถกลับมาสื่อสารได้ ทำให้มีกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยบางโรค เช่น อัมพาต ที่จะต้องนอนอยู่บนเตียงไปตลอดชีวิต พูดได้ว่ามีชีวิตเหมือนร่างไร้วิญญาณ รวมถึงผู้ป่วยหนักหรือผู้สูงอายุ ซึ่งอุปกรณ์ SenzE จะช่วยให้กลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง ทำให้แพทย์ ผู้ดูแล หรือญาติมิตร สามารถเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ และที่สำคัญคือทำให้คนไทยได้ใช้อุปกรณ์ในราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว โดยอุปกรณ์จากต่างประเทศซึ่งไม่มีเมนูการใช้งานภาษาไทยจะมีราคามากกว่า 300,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมภาษีนำเข้าและค่าขนส่ง ขณะที่อุปกรณ์ SenzE ที่มีซอฟต์แวร์ภาษาไทยและพัฒนาเพื่อคนไทยนั้น เราจำหน่ายในราคา 180,000 บาท ไม่รวมคอมพิวเตอร์ในชุด ซึ่งผู้ใช้สามารถจัดหาคอมพิวเตอร์ไว้เองได้ พร้อมการรับประกันอัพเดตซอฟต์แวร์ฟรีและซ่อมถึงที่นาน 2 ปี

เราได้รับการคัดเลือกจากเอ็นไอเอ ให้อุปกรณ์ SenzE ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมเชิงสังคม ซึ่งคัดเลือกจากกว่า 1,000 โครงการที่เอ็นไอเอเคยสนับสนุนทุนวิจัย และจัดเป็นโครงการ SenzE for Charity ซึ่งได้รับการสนับสนุนร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่เล็งเห็นประโยชน์ของอุปกรณ์ SenzE โดยซื้ออุปกรณ์กว่า 30 ชุด เพื่อนำไปบริจาคให้โรงพยาบาลของรัฐแห่งละ 3 ชุด รวม 10 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลจุฬา โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันประสาทวิทยา ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพการแพทย์แห่งชาติ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกว่า 10,000 คน ได้ใช้ประโยชน์

นอกจากนี้อุปกรณ์ SenzE ยังเคยได้รับรางวัลจากการประกวดในเวทีอื่นๆ มาแล้ว อาทิ จากโครงการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โครงการทรู อินโนเวชั่น อะวอร์ด โดยในเร็วๆ นี้ บริษัทจะนำอุปกรณ์ SenzE เข้าร่วมการประกวด ณ ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

ขณะนี้มีผู้สนใจติดต่อทดลองใช้อุปกรณ์ SenzE บ้างแล้ว เป้าหมายของเราคืออยากพัฒนาอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้จริงและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นเรายินดีจะให้ผู้สนใจได้นำไปทดลองใช้งานก่อนตัดสินใจซื้อ ขณะเดียวกัน หากผู้ป่วยไม่สะดวกจะซื้อในราคาเต็มก็มีการซื้อแบบผ่อนชำระได้ด้วย เพราะเป้าหมายของเราคือการผลิตและจำหน่ายให้ผู้ป่วย ไม่ใช่เน้นขายให้โรงพยาบาลเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นพระสงฆ์หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่หรือเหตุความไม่สงบในภาคใต้นั้น เรามีแผนจะจำหน่ายให้ในราคาพิเศษ หรือองค์กรใดต้องการบริจาค ทางบริษัทยินดีจะดำเนินการให้ทันที ซึ่งบริษัทมีกำลังผลิตได้หลักร้อยเครื่องต่อ 1 เดือน

ปัจจุบันเครื่องมือของเราสามารถใช้งานได้ 2 ภาษา คือ คีย์บอร์ดภาษาไทยและอังกฤษ แต่บริษัทมีแผนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายใน 2 ปี จึงตั้งเป้าพัฒนาคีย์บอร์ดเพื่อรองรับภาษาต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนด้วย โดยภาษาต่อไปอาจเป็นการพัฒนาภาษาจีน นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ๆ เช่น การเป็นโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพิ่มภาพ เพลง ภาพยนตร์เข้าไปในเครื่อง เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ป่วยที่ใช้งาน หรือการช่วยสะกดคำ เพื่อลดเวลาในการพิมพ์ให้สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการทำเมนูเสียง การแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังเบอร์โทรศัพท์ของญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย และการเชื่อมต่อกับระบบออนไลน์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต เข้าสู่เว็บไซต์อ่านข่าว หรือดูโทรทัศน์ผ่านระบบไอพีทีวี เป็นต้น ซึ่งคาดว่าบางฟังก์ชั่นนั้นจะสามารถพัฒนาได้สมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม เราพิจารณาจากแนวโน้มเทคโนโลยี ซึ่งในอนาคตอาจมีการพัฒนาสู่บริการผ่านระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานได้จากหลายอุปกรณ์ และเปิดโอกาสให้เช่าซื้อเช่าใช้อุปกรณ์ได้

 

ฟื้นการสื่อสารให้ผู้ป่วยและผู้พิการ
 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก