ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เล็งของบฯพัฒนาคุณภาพชีวิต พม. หวังสร้างคนป้อนสถานประกอบการ

วันที่ลงข่าว: 24/07/13

ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีเด็กพิการต้องการเรียนสายอาชีพสูงมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของวิทยาลัยที่มีครูผู้สอนคนพิการน้อย ทำให้เด็กพิการต้องเดินทางมาเรียนไกลบ้าน ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็มีความต้องการรับคนพิการเข้าทำงานตามกฎหมาย แต่กลับไม่มีคนพิการที่มีศักยภาพในการทำงาน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีแผนขยายจำนวนรับนักเรียน นักศึกษาที่มีความพิการทางร่างกายเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น โดยจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาครูให้มีความสามารถในการสอนเด็กพิการ โดยกระจายไปยังกลุ่มจังหวัดเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนคนพิการในหลักสูตร 200 ชั่วโมง ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้เงินเพิ่มพิเศษเดือนละ 2,000 บาทด้วย
เลขาธิการ กอศ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สอศ.กำลังสำรวจจำนวนครู เพื่อนำมาพัฒนาการสอนแก่เด็กพิการในแต่ละด้าน อาทิ หูหนวก ตาบอด ความบกพร่องทางสมอง ซึ่งในปีการศึกษา 2556 วิทยาลัยในสังกัด สอศ. มีเด็กพิการเรียน 1,323 คน เป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 905 คน และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 418 คน นอกจากนี้ยังเรียนในหลักสูตรระยะสั้นอีก 1,747 คน สาขาที่นักศึกษาพิการสนใจเรียนมากที่สุด คือ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง สอศ.ได้จัดงบประมาณให้แก่วิทยาลัยในกรณีที่เรียน ปวช. นอกจากเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วจะได้ในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวอีก 1 เท่าของเด็กปกติ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวก โดยปีนี้ตั้งงบฯไว้ 18 ล้านบาท และ สอศ.กำลังจะเสนอของบฯพิเศษจากแผนพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 196.5 ล้านบาท หากได้รับเงินในส่วนนี้มาก็จะเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กพิการได้มากขึ้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก