ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อังกฤษเห็นแสงสว่างรักษาตาบอดด้วยสเต็มเซลล์

วันที่ลงข่าว: 24/07/13
นักวิทยาศาสตร์อังกฤษเห็นโอกาสสำเร็จในการทดลองรักษาอาการตาบอดด้วยการปลูกสเต็มเซลล์ และจะเป็นการทดลองครั้งแรกในคน หลังการทดลองปลูกเซลล์รับแสงในตาสัตว์ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดประสบความสำเร็จ 
       
       ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่และเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญ โดยบีบีซีนิวส์รายงานว่าจากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ไบโอเทคโนโลยี (Nature Biotechnology) ได้แสดงให้เห็นถึงการซ่อมแซมชิ้นส่วนในดวงตาที่ทำหน้าที่รับแสงด้วยสเต็มเซลล์ได้
       
       ด้านทีมนักวิยาศาสตร์จากโรงพยาบาลมูร์ฟิล์ดอาย (Moorfields Eye Hospital) และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) กล่าวว่า ตอนนี้มีโอกาสที่จะทดลองในมนุษย์เป็นครั้งแรก
       
       เซลล์รับแสงในดวงตา "โฟโตรีเซฟเตอร์" (Photoreceptor) เป็นเซลล์ในเรตินาที่มีปฏิกิริยาต่อแสงและเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สามารถส่งไปยังสมองได้ ทว่าเซลล์เหล่านี้ตายได้และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการตาบอด เช่น โรคสตาร์การ์ดท (Stargardt's disease) และโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ เป็นต้น
       
       มีการทดลองในคนโดยใช้สเต็มเซลล์เพื่อทดแทน "เซลล์ค้ำจุน" ในดวงตาเพื่อพยุงให้รีเซฟเตอร์ยังคงมีชีวิตแล้ว และตอนนี้ทีมวิจัยในลอนดอนได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดแทนที่เซลล์รับแสงโดยตรง เพื่อเพิ่มโอกาสในการแก้อาการตาบอด ทั้งนี้ การวิจัยในดวงตาเป็นหนึ่งในสาขาที่ก้าวหน้าที่สุด สำหรับงานวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์
       
       ทีมวิจัยดังกล่าวได้ใช้เทคนิคใหม่นี้เพื่อสร้างเรตินาในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเพื่อสร้างสเต็มเซลล์นับพันนับหมื่น ที่ถูกนำไปจัดวางอย่างเป็นระเบียบให้กลายเป็นโฟโตรีเซฟเตอร์ จากนั้นฉีดใส่ดวงตาของหนูทดลอง
       
       จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเซลล์เหล่านั้นเกาะเกี่ยวโครงสร้างในตาที่มีอยู่แล้วได้ และเริ่มต้นทำงานได้ แต่ประสิทธิภาพในการกลายไปเป็นเซลล์รับแสงได้ยังต่ำ โดยมีเซลล์เพียง 1,000 เซลล์จาก 200,000 ที่ถูกปลูกถ่าย ที่สามารถเกาะเกี่ยวกับส่วนอื่นของดวงตาได้
       
       ศ.โรบิน อาลิ (Prof. Robin Ali) หัวหน้าทีมวิจัยนี้ให้สัมภาษณ์บีบีซีนิวส์ว่า การวิจัยดังกล่าวเป็นการพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงแนวคิดว่า เราปลูกถ่ายโฟโตรีเซฟเตอร์จากแหล่งสเต็มเซลล์ตัวอ่อนได้ และการทดลองนั้นได้ให้แผนที่นำทางไปสู่การทดลองในมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงตื่นเต้นมาก เพราะจากการทดลองมา 5 ปี ก็ถึงเวลาที่จะทดลองทางคลีนิคแล้ว
       
       เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในดวงตาค่อนข้างอ่อนแอ ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่ตาจะปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะ เซลล์ไม่กี่เซลล์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญในดวงตาได้ ซึ่งสเต็มเซลล์หลายหมื่นเซลล์สามารถปรับปรุงการมองเห็นได้ แต่จำนวนเซลล์ดังกล่าวจะไม่สร้างเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ อย่างเช่น ตับที่ไม่ทำงาน เป็นต้น
       
       ศ.คริส มาซอน (Prof.Chris Mason) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนให้ความเห็นว่า เขาคิดว่างานวิจัยดังกล่าวได้สร้างก้าวสำคัญ แต่ในแง่ประสิทธิภาพยังต่ำเกินไปสำหรับการใช้ในระดับคลีนิค เขาเห็นว่าทีมวิจัยที่เขาไม่มีส่วนร่วมนี้ควรเพิ่มตัวเลขความสำเร็จให้มากกว่านี้ก่อน จากนั้นจึงค่อยตั้งคำถามว่าจะทดลองในคนได้หรือไม่
       
       "แต่ผมก็คิดว่านี่เป็นการค้นพบที่สำคัญ ที่อาจนำไปสู่เทคนิคการบำบัดด้วยเซลล์ และอาจจะให้ความรู้ที่มากขึ้นเกี่ยวกับการเยียวนาอาการตาบอดได้" ศ.มาซอนให้ความเห็น
       
       ส่วน ดร.มาร์เซโล ริโวลตา (Dr.Marcelo Rivolta) จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิล์ด (University of Sheffield) กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นก้าวที่สำคัญในการบำบัดอาการตาบอด และมีนัยสำคัญต่องานวิจัยสเต็มเซลล์

  เซลล์รูปแท่ง (rod cells) สีน้ำเงิน และเซลล์รูปกรวย (cone cells) สีเขียว ที่ตรวจวัดสง แล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมอง
 
เซลล์รูปแท่ง (rod cells) สีน้ำเงิน และเซลล์รูปกรวย (cone cells) สีเขียว ที่ตรวจวัดสง แล้วเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมอง
 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก